การปลอมหรือแก้ไขใบรับรองแพทย์ มีความผิดเท่ากับปลอมเอกสาร
การเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เมื่อแพทย์ได้ตรวจรักษาและมีความเห็นให้หยุดงานเพื่อพักผ่อนฟื้นฟูร่างกายให้หายเจ็บป่วย ก็จะออกใบรับรองแพทย์ที่ระบุวันหยุดเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นลาหยุด หากมีการปลอมแปลง หรือแก้ไข หรือใช้ใบรับรองปลอม ถือว่ามีความผิด มีโทษทางกฎหมายซึ่งจะหนักแค่ไหน ตามไปดูรายละเอียดพร้อมๆ กัน
ใบรับรองแพทย์คืออะไร?
ใบรับรองแพทย์ ทางแพทยสภาให้ความหมายไว้ว่า เป็นเอกสารประเภทหนึ่ง ที่โดยทั่วไปจะเขียนในกระดาษที่เป็นแบบฟอร์มเฉพาะ (ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์) โดยหน้ากระดาษนั้นอาจมีคำว่าใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองใบแพทย์ หรือข้อความอื่นที่แสดงว่าเป็นเอกสารที่ออกจากแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
การปลอมหรือแก้ไขใบรับรองแพทย์มีความผิดอย่างไร?
ความผิดจากการใช้ใบรับรองแพทย์ที่ถูกปลอมแปลงหรือแก้ไข มีความผิดแตกต่างกันตามลักษณะการนำไปใช้ คือ
1. การแก้ไขหรือปลอมใบรับรองแพทย์ โดยไม่ได้ไปตรวจจริง และทำให้คนอื่นเชื่อว่าเป็นเอกสารจริง (ผู้ที่ไม่ได้เป็นแพทย์ออก)
ถือว่ามีความผิดในข้อหาปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. การนำใบรับรองแพทย์ปลอมไปแสดงต่อนายจ้าง
ถือเป็นการทุจริต หรือเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง สามารถถูกไล่ออกได้โดยนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 119 (1)
3. การใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมในหน่วยงานราชการ
มีความผิดทั้งตามประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายที่ใช้สำหรับหน่วยงานนั้นๆ รวมถึงมีโทษทางวินัยตามมาด้วย
4. แพทย์ที่ออกใบรับรองแพทย์โดยไม่ได้ทำการตรวจจริง
มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จะเห็นได้ว่า ใบรับรองแพทย์ถือเป็นเอกสารสำคัญ โดยเฉพาะหากเป็นโรงพยาบาลรัฐ ใบรับรองแพทย์ที่ออกจากโรงพยาบาลรัฐถือเป็นเอกสารราชการ ดังนั้นการแก้ไขแม้เพียงเล็กน้อย ไปจนกระทั่งถึงการปลอมแปลง ผู้ที่ทำและนำไปใช้ จึงมีความผิดและมีโทษหนักเทียบเท่ากับการปลอมแปลงเอกสารสำคัญอื่นๆ เมื่อทราบข้อเท็จจริงเช่นนี้แล้ว ผู้ป่วยหรือผู้อยากป่วยทั้งหลายให้ตระหนักให้ดี และให้ความสำคัญกับการใช้ใบรับรองแพทย์ให้ถูกต้อง ทั้งในขั้นตอนการไปพบแพทย์ และในขั้นตอนการนำใบรับรองแพทย์ไปยื่นเป็นหลักฐานในการหยุดงาน เพื่อไม่ให้เรื่องเจ็บป่วยเพียงน้อยนิด นำไปสู่โทษทั้งจำทั้งปรับ
ข้อมูลอ้างอิง