การทำงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แต่บางครั้งก็อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานและชีวิตของลูกจ้าง กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จึงถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันทางสังคมให้กับลูกจ้างทุกคน โดยเฉพาะในยามที่เผชิญกับปัญหาเกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น การถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรือการไม่ได้รับค่าจ้างตามสิทธิ์ที่พึงได้ บทความนี้จะบทความนี้จะพามาทำความเข้าใจกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างอย่างละเอียด พร้อมข้อมูลสิทธิประโยชน์และวิธีการขอรับเงิน เพื่อให้ทุกคนมั่นใจได้ว่า สิทธิ์ของคุณจะไม่ถูกละเลย
กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างสำคัญอย่างไร?
• เป็นกองทุนที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้มีขึ้น บนหลักการและพื้นฐานของสวัสดิการ โดยมุ่งเน้นลูกจ้างที่เดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือ ในกรณี ดังนี้
‐ ออกจากงาน
‐ เสียชีวิต
‐ กรณีอื่นๆ ที่คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างกำหนด
• หากนายจ้างไม่ได้จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และไม่ได้จัดให้มีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง นายจ้างต้องส่งเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง
ลูกจ้างมีสิทธิยื่น ขอรับเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง เมื่อใด?
• เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างและนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ลูกจ้างยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ได้ เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยและ นายจ้างไม่ได้จ่ายเงินตามคำสั่งภายในกำหนด ซึ่งนายจ้างไม่ได้นำคดีไปสู่ศาล (พ้นระยะ 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง)
• เมื่อนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างหรือเงินอื่นตามที่ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนด ลูกจ้างยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ได้ เมื่อพนักงานตรวจแรงงาน ได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินและนายจ้างไม่ได้จ่ายเงินตามคำสั่งภายในกำหนด
• ต้องยื่นคำขอภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงิน
หลักเกณฑ์การจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง
1. เงินสงเคราะห์ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย
• 30 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ที่ลูกจ้างพึงได้รับสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วันแต่ไม่ครบ 6 ปี
• 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ที่ลูกจ้างพึงได้รับสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีขึ้นไป
2. เงินสงเคราะห์ในกรณีอื่นนอกจากค่าชดเชย เช่น ค่าจ้างค้างจ่าย ฯลฯ จะให้การสงเคราะห์เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง โดยจะจ่ายไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ของลูกจ้างที่พึงได้รับ
การรับเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง
• ลูกจ้างมารับเงินด้วยตนเองภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำขอรับเงินสงเคราะห์
• ลูกจ้างนำบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงด้วยตนเอง
• หากลูกจ้างไม่สามารถมารับเงินด้วยตนเองได้
‐ ลูกจ้างทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับเงินแทน
‐ ผู้รับมอบอำนาจนำบัตรประจำตัวประชาชนของตนไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับเงิน
• ลูกจ้างต้องมารับเงินภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หรือลูกจ้างถึงแก่ความตาย เพื่อไม่ให้สิทธิขอรับเงินสงเคราะห์ถูกระงับ
• หากลูกจ้างผู้ถูกระงับสิทธิ์ไปแล้ว มีความประสงค์จะรับเงินกองทุนฯ อีกต้องยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์ใหม่
หลักฐานที่ต้องใช้
• บัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานอื่นที่ทางราชการออกให้ซึ่งแสดงได้ว่าระบุถึงตัวผู้นั้นพร้อมสำเนา
สถานที่ยื่นขอรับเงินสงเคราะห์
• ยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ตามแบบที่อธิบดีกำหนด (แบบ สกล.1) ต่อพนักงานตรวจแรงงานแห่งท้องที่ที่มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงิน
‐ ส่วนกลาง ยื่นได้ที่กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ ทุกพื้นที่
‐ ส่วนภูมิภาค ยื่นได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ทุกจังหวัด
กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เป็นมากกว่ามาตรการด้านแรงงานทั่วไป แต่คือความมั่นใจที่ลูกจ้างทุกคนควรมี ในกรณีที่เกิดความไม่เป็นธรรมในที่ทำงาน อย่าลืมตรวจสอบสิทธิของคุณและศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อปกป้องตัวเองและครอบครัวในยามฉุกเฉิน การรับรู้และเตรียมพร้อมในวันนี้ อาจช่วยคุณได้มากมายในวันข้างหน้า เพราะสิทธิแรงงาน คือสิทธิที่ต้องได้รับการปกป้อง
อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับลูกจ้าง
ทิศทางตลาด และการสร้างแรงงานสัมพันธ์ นายจ้าง-ลูกจ้าง ในองค์กร
นายจ้างจ่ายเงินช้า ลูกจ้างสามารถทำอะไรได้บ้าง?
ผิดไหม? หากนายจ้างไม่จ่ายค่าล่วงเวลา (OT) ให้ลูกจ้าง