เครื่องเล่นเกม ลักษณะต้องห้ามและบทลงโทษ

เครื่องเล่นเกม

ในยุคที่เทคโนโลยีสร้างความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ การนำเข้าเครื่องเล่นเกมบางประเภทกลับกลายเป็นปัญหาทางสังคมและกฎหมาย เนื่องจากลักษณะของเครื่องเล่นเหล่านี้เอื้อต่อการเล่นพนัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อป้องกันปัญหา กระทรวงพาณิชย์จึงได้กำหนดให้เครื่องเล่นเกมบางชนิดเป็นสินค้าต้องห้าม พร้อมกำหนดบทลงโทษทางกฎหมายที่เข้มงวด บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจว่าเครื่องเล่นเกมแบบใดที่เข้าข่ายต้องห้าม และบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนมีอะไรบ้าง

“เครื่องเล่นเกม” สินค้าต้องห้าม

เพื่อปกป้องสังคมจากการเล่นพนัน กระทรวงพาณิชย์จึงได้กำหนดให้สินค้าเครื่องเล่นเกมเป็นสินค้าที่ห้ามนำเข้าและนำผ่านราชอาณาจักร หากฝ่าฝืนต้องรับโทษตาม พ.ร.บ. พ.ศ. 2560 มีทั้งโทษปรับและจำคุก ตัวอย่างของเครื่องเล่นเกมที่เป็นสินค้าต้องห้าม มีดังนี้

1. สล็อตแมชชีน (Slot Machine)

เครื่องเล่นพนันที่ประกอบด้วยวงล้อจำนวน 3 วง หรือมากกว่า วงล้อนี้จะหมุนเมื่อผู้เล่นหยอดเหรียญแล้วกดปุ่มหรือโยกคันโยก จากนั้นจะคิดคะแนนจากสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ด้านหน้าเมื่อวงล้อหยุดหมุน

2. ตู้ม้าแข่ง

ตู้เกมแบบหยอดเหรียญ โดยจำลองสนามแข่งม้า ทั่วไปมีม้าให้เลือก 6 ตัว ผู้เล่นเลือกม้าได้แล้วต้องกดปุ่มวิ่งเพื่อเริ่มแข่ง ใช้เวลาประมาณ 30 วินาทีต่อรอบ หากม้าตัวที่เลือกชนะ ผู้เล่นจะได้รับเงินตามจำนวนที่เดิมพันไว้

3. ปาจิงโกะ (Pachinko)

ตู้เกมประเภทหนึ่งที่ผู้เล่นต้องหมุนที่จับของเครื่อง เพื่อปล่อยลูกบอลขนาดเล็ก โดยมีเป้าหมายคือการชนะแจ็คพอต ลักษณะคล้ายการเล่นพินบอลในเครื่องสล็อตแมชชีน

4. รูเล็ตต์ (Roulette)

เกมที่หมุนวงล้อ เพื่อให้ลูกบอลหล่นลงในช่องหมายเลขต่างๆ ผู้เล่นจะเดิมพันโดยทายว่าลูกบอลจะหยุดที่หมายเลขใด หากลูกบอลหยุดที่หมายเลขที่เลือกไว้ ผู้เล่นคนนั้นจะชนะ

โทษของการฝ่าฝืน

นำเข้าโดยผ่านศุลกากร : โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้น
นำเข้าโดยไม่ผ่านศุลกากร : จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับ 4 เท่าของราคาของ หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใช้ สนับสนุน หรือสมคบ : สมาชิกทุกคนที่มีส่วนในการสมคบกันกระทำความผิด ต้องรับโทษเช่นเดียวกับตัวการผู้กระทำ

การป้องกันไม่ให้เครื่องเล่นเกมที่เข้าข่ายเป็นสินค้าต้องห้ามแพร่ระบาดในสังคม ถือเป็นมาตรการสำคัญในการลดปัญหาการพนันที่อาจส่งผลเสียต่อคนจำนวนมาก ทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม การทำความเข้าใจลักษณะของสินค้าต้องห้ามและบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่เพียงช่วยให้เราปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง แต่ยังสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวมอีกด้วย เพราะสังคมที่ปราศจากการส่งเสริมพฤติกรรมเสี่ยง ย่อมเป็นสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

 

อ่านบทความนี้เพิ่มเติมใน เอกสารภาษีอากร ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2567
พร้อมบทความที่น่าสนใจ โดยนักเขียนผู้เชี่ยวชาญกว่า 20 ท่าน

 

เอกสารภาษีอากร ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2567

 

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?