ในยุคที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างรวดเร็ว ความปลอดภัยทางไซเบอร์กลายเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ หนึ่งในระบบที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องข้อมูลก็คือ Identity and Access Management (IAM) หรือ การบริหารจัดการการพิสูจน์ตัวตนและการควบคุมการเข้าถึงระบบสารสนเทศ ซึ่งเป็นมากกว่าแค่การจัดการรหัสผ่านและสิทธิ์การเข้าถึง
โดยปัจจุบันการทำงานจากระยะไกลและการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ที่เพิ่มมากขึ้น IAM เป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาความปลอดภัยในระบบไอทีขององค์กร การประเมินระบบ IT จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพและช่องโหว่ ไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ แต่ยังเพิ่มความสะดวกในการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ใช้ พันธมิตรทางธุรกิจ และผู้ขาย (Vendor) ในระบบเดียวกันอย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ใด หรืออยู่ที่ไหน และด้วยระบบที่แข็งแกร่งนี้ IAM จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพขององค์กร ในการบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธภาพ ปลอดภัย และยั่งยืนต่อไปในอนาคต
แนวคิด “Zero Trust” กับ IAM และการประเมินระบบ IT
หลักการสำคัญที่ IAM ใช้ก็คือ Zero Trust Model ซึ่งถือกำเนิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่า “อย่าไว้ใจสิ่งใดโดยไม่มีการตรวจสอบ: Never Trust, Always Verify” ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงจากภายในหรือภายนอกองค์กร ทุกการเชื่อมต่อจะต้องผ่านการยืนยันตัวตน และได้รับสิทธิ์เท่าที่จำเป็นเท่านั้น (Least Privilege) ไม่ว่าจะเป็นบุคคล อุปกรณ์ หรือแอปพลิเคชันก็ตาม
ในทุก ๆ วัน องค์กรอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภัยคุกคามไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง ผู้ดูแลระบบไอที ต้องคอยกำหนดนโยบายการจัดการสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลในองค์กรให้เหมาะสม การประเมินระบบ IT อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้สามารถระบุและแก้ไขช่องโหว่ได้อย่างทันท่วงที กับบทบาทและหน้าที่ของผู้ใช้ พร้อมทั้งตรวจสอบ และควบคุมการเข้าถึงข้อมูลสำคัญเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบมีความปลอดภัยและป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นนั่นเอง
ระบบ IAM มีบทบาทสำคัญอย่างไร?
ระบบ IAM มีบทบาทหลักในการสร้าง Digital Identity ที่ไม่ซ้ำกันต่อผู้ใช้แต่ละคนหรืออุปกรณ์ เพื่อป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์ โดย IAM ทำหน้าที่ดังนี้:
1. ตรวจสอบสิทธิ์ผู้ใช้ ตามบทบาท (User roles) และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์, วันเวลา และเครือข่ายที่ใช้เชื่อมต่อ
2. บันทึกและติดตามการใช้งานของผู้ใช้ในระบบ
3. จัดการสิทธิ์การเข้าถึงฐานข้อมูลภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
4. บริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้ รวมถึงการลบหรือจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงของผู้ใช้ที่ไม่จำเป็น
5. ควบคุมการเปลี่ยนแปลงสิทธิ์ของผู้ใช้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญโดยไม่ได้รับอนุญาต
การประเมินระบบ IT อย่างต่อเนื่องจะช่วยให้องค์กรสามารถปรับปรุงและพัฒนาระบบ IAM ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แหล่งที่มาอ้างอิง
NIST (National Institute of Standards and Technology) – เอกสารแนวปฏิบัติมาตรฐานและคำแนะนำสำหรับการจัดการการพิสูจน์ตัวตนและการเข้าถึง (IAM)
Gartner – ข้อมูลเกี่ยวกับโซลูชันการจัดการการเข้าถึง (IAM) ในเชิงธุรกิจและกลยุทธ์
Forrester Research – การวิเคราะห์และแนวโน้มเกี่ยวกับเทคโนโลยี IAM และ Zero Trust
Microsoft Identity and Access Management Solutions – โซลูชัน IAM ของ Microsoft สำหรับองค์กร
เรียบเรียงบทความโดย นายผดุงเกียรติ จำชาติ
ผู้ช่วยหัวหน้าแผนก ฝ่ายตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศ
บริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด