17 พฤศจิกายน 2565
ถนนชำรุดหรืออยู่ในระหว่างซ่อมบำรุงแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนที่ชัดเจน เป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินผู้ใช้รถใช้ถนน และหลายเคสอาจไม่รู้ว่าหากเกิดเหตุแบบนี้จะหาใครมารับผิดชอบ หรือต้องดำเนินการอย่างไร นอกเหนือจากแจ้งประกันและตำรวจ วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกัน
การแบ่งประเภทถนนในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2549
มาตรา 6 ทางหลวงมี 5 ประเภท คือ
1) ทางหลวงพิเศษ
2) ทางหลวงแผ่นดิน
3) ทางหลวงชนบท
4) ทางหลวงท้องถิ่น
5) ทางหลวงสัมปทาน
ลักษณะทางหลวงแต่ละประเภทและหน่วยงานที่รับผิดชอบ
1) ทางหลวงพิเศษ คือ ทางหลวงที่จัดหรือทำไว้เพื่อให้การจราจรผ่านได้ตลอดรวดเร็วเป็นพิเศษ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงพิเศษ โดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา รวมทั้งควบคุมให้มีการเข้าออกได้เฉพาะ โดยทางเสริมที่เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษตามที่กรมทางหลวงจัดทำขึ้นไว้เท่านั้น
2) ทางหลวงแผ่นดิน คือ ทางหลวงสายหลักที่เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างภาค จังหวัด อำเภอ ตลอดจนสถานที่สำคัญ ที่กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็น ทางหลวงแผ่นดิน
3) ทางหลวงชนบท คือ ทางหลวงที่กรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะ และบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงชนบท
4) ทางหลวงท้องถิ่น คือ ทางหลวงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงท้องถิ่น
5) ทางหลวงสัมปทาน คือ ทางหลวงที่รัฐบาลได้สัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงที่ได้รับสัมปทาน และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงสัมปทาน
ลักษณะถนนที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ
• เป็นหลุมเป็นบ่อมีน้ำขังจนไม่สามารถมองเห็นได้ว่าลึกแค่ไหน
• ถนนทรุด หรือขาด เป็นพื้นที่กว้าง
• ถนนที่อยู่ระหว่างการวางท่อระบายน้ำ หรือมีการซ่อมแซมบำรุงต่างๆ
• ความเสียหายต่างๆ ของถนน ไม่มีการตรวจสอบดูแล หรือติดตั้งป้ายแจ้งเตือน ป้ายห้ามผ่านที่ชัดเจน รวมทั้งไม่มีแสงไฟส่องสว่างให้เห็นยามค่ำคืน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
ตามกฎหมาย มาตรา 420 หากผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดอุบัติเหตุบนถนนที่ชำรุดเสียหาย หรืออยู่ในช่วงซ่อมแซม และไม่มีป้ายแจ้งเตือนให้เห็นชัดเจน หน่วยงานหรือผู้ที่มีหน้าที่ซ่อมแซม ดูแล บำรุงถนนต้องรับผิดชอบตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
แต่หากไม่มีใครรับผิดชอบผู้เสียหายสามารถยื่นเรื่องเพื่อเข้ากระบวนการร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครอง และศาลปกครองจะดำเนินการพิจารณาหลักฐานต่างๆ หากพิสูจน์ได้ว่าต้นเหตุของอุบัติเหตุมาจากถนนที่ไม่พร้อมใช้งานจริง ศาลจะให้หน่วยงานที่ดูแลถนนเส้นนั้นเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหาย
อ้างอิงข้อมูล
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2549