“แม่บทการบัญชี” หัวใจสำคัญของการเป็นนักบัญชี

05 กันยายน 2562

บทความสำหรับนักบัญชีนี้ เป็นประเด็นที่นักบัญชีหลายท่านอาจมองข้ามไป โดยเน้นพุ่งประเด็นไปมองที่มาตรฐานการบัญชี/การรายงานทางการเงินเป็นหลัก

โดยหัวใจสำคัญของการจัดทำบัญชีที่นักบัญชีควรศึกษาก็คือ ‘แม่บทการบัญชี’ เพราะถือได้ว่าการที่นักบัญชีเข้าใจถึงแม่บทการบัญชีนั้น ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการศึกษามาตรฐานการบัญชี และเป็นจุดเชื่อมโยงเรื่องราวของมาตรฐานการบัญชี ทำให้เกิดความเข้าใจ และปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง

เริ่มทำความเข้าใจกับสิ่งแรกเลยครับ ‘ข้อสมมติฐานทางการบัญชี’

เป็นที่ทราบกันดีว่าแม่บทการบัญชี (ปรับปรุง 2552) ได้มีการปรับปรุงพร้อมกับมาตรฐานการบัญชี และมาตรฐานรายงานทางการเงิน โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้การรายงานทางการเงินเกิดความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น โดยข้อมสมมติฐานที่ได้พูดถึงในแม่บทการบัญชีนั้นจะประกอบไปด้วยเรื่อง เกณฑ์คงค้าง และการดำเนินงานต่อเนื่อง ซึ่งเรามาทำความเข้าใจกับทั้งสองเรื่องกันเลยครับ

1. เกณฑ์คงค้าง ตามแม่บทการบัญชีนั้น

หมายถึง รายการ และเหตุการณ์ทางบัญชีที่จะรับรู้เมื่อเกิดเหตุการณ์มิใช่เมื่อมีการรับหรือจ่ายเงินสด หรือรายการเทียบเท่าเงินสด ซึ่งรายการทางบัญชีจะถูกบันทึกบัญชีไว้ตามงวดบัญชีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสอดคล้องกับงบการเงินที่จะต้องจัดทำตามหลักเกณฑ์คงค้าง

ซึ่งจะเห็นได้ว่านักบัญชีที่หลงลืมแม่บทการบัญชี อาจจะทำให้มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเกณฑ์คงค้าง และเกณฑ์สิทธิ โดยคิดว่ามันคือหลักเกณฑ์เดียวกัน เพราะอาจจะเห็นว่าภาษาอังกฤษใช้ว่า Accrual Basis เหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วมันคนละตัวกันนะครับ ซึ่งเกณฑ์คงค้าง นั้นเป็นหลักเกณฑ์รับรู้ทางบัญชีในการคำนวณกำไรขาดทุนทางบัญชี คิดคำนวณตามวิธีการรับรู้รายได้ และค่าใช้จ่ายโดยเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง แต่ เกณฑ์สิทธิ เป็นเกณฑ์การรับรู้ทางภาษี สำหรับการคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล คิดคำนวณตามหลักเกณฑ์การยอมรับเป็นรายได้หรือรายจ่ายตามประมวลรัษฎากร

2. การดำเนินงานต่อเนื่อง Going Concern

ซึ่งข้อสมมติฐานการบัญชีนี้ เป็นสิ่งที่ผมมักจะเขียนในบทความอยู่บ่อยครั้ง แต่คราวนี้ขอชี้จุดที่ทำให้เห็นว่าเป็นหลักการทั่วไปที่สามารถเห็น หรือบอกได้ว่ารายการที่แสดงในงบการเงินนั้นได้ถูกจัดทำขึ้นตามข้อสมมติฐานที่ว่ากิจการจะดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต ตัวอย่างเช่น รายการค้างจ่าย ที่มีการตั้งบัญชีค้างจ่ายข้ามงวดบัญชี หรือแม้แต่รายการรับล่วงหน้า/จ่ายล่วงหน้า เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นเหตุการณ์บอกเหตุว่ากิจการจะยังคงดำรงอยู่เพื่อดำเนินกิจการ แต่ถึงอย่างไรก็ตามในกรณีที่กิจการมีเจตนาหรือความจำเป็นที่จะใช้หลักเกณฑ์อื่นแทน ก็สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้จะต้องเปิดเผยหลักเกณฑ์นั้นในงบการเงินด้วย

 

สิ่งสำคัญที่นักบัญชีควรต้องทำความเข้าใจอีกประการหนึ่ง คือ หลักการรับรู้รายการ ตามที่แม่บทการบัญชี (ปรับปรุง 2552) กำหนด สำหรับประเด็นนี้ ผมขอสรุปใจความสำคัญของการรับรู้รายการให้เห็นดังนี้นะครับ

1. การรับรู้รายการของสินทรัพย์

สาระสำคัญคือ ควรรับรู้ในงบแสดงฐานะการเงิน โดยเงื่อนไขว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะได้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต และมีราคาทุนหรือมูลค่าที่สามารถวัดได้อย่างน่าเชื่อถือ

2. การรับรู้รายการของหนี้สิน

สาระสำคัญคือ ควรรับรู้ในงบแสดงฐานะการเงิน โดยมีเงื่อนไขว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่กิจการจะสูญเสียประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของทรัพยากรเพื่อชำระภาระผูกพันในปัจจุบัน และมูลค่าของภาระผูกพันที่ต้องชำระนั้นสามารถวัดได้อย่างน่าเชื่อถือ

3. การรับรู้รายได้

สาระสำคัญคือ การรับรู้ในงบกำไรขาดทุน มีเงื่อนไขว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่เมื่อประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์หรือลดลงของหนี้สิน และสามารถวัดมูลค่าประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตได้อย่างน่าเชื่อถือ (ยกตัวอย่างเช่น การที่สินทรัพย์ของกิจการเพิ่มขึ้น เมื่อมีการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการ หรือ หนี้สินลดลงเมื่อเจ้าหนี้ยกหนี้ให้)

4. การรับรู้ค่าใช้จ่าย

สาระสำคัญคือ การรับรู้ในงบกำไรขาดทุน ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไข ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตลดลง เนื่องจากการลดลงของสินทรัพย์ หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้สิน / กิจการสามารถวัดมูลค่าของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจได้อย่างน่าเชื่อถือ / คาดว่าประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของรายการที่จะเกิดขึ้นในหลายรอบระยะเวลาบัญชี หากว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดไม่สัมพันธ์กับรายได้ กิจการควรจะรับรู้ค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนตามเกณฑ์การปันส่วนอย่างเป็นระบบและสมเหตุสมผล

 

จากที่กล่าวข้างต้น ก็จะเห็นได้ว่าการรับรู้แต่ละรายการนั้นมุ่งประเด็นที่ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีที่ได้มีการระบุไว้ ประกอบกับการรับรู้รายการนั้นก็เน้นในเรื่องการวัดมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ ซึ่งนั้นก็สอดคล้องกับลักษณะเชิงคุณภาพของงบการเงิน ในเรื่องหลักความระมัดระวัง ที่นักบัญชีต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามงบการเงินที่จัดทำตามเกณฑ์คงค้าง การรายงานทางการเงินที่สอดคล้องกับหลักการดำเนินงานต่อเนื่อง หรือแม้แต่จะเป็นเรื่องของหลักการรับรู้รายการ ต่างก็เป็นเครื่องมือที่ต้องเชื่อมโยงต่อกันด้วย เพราะปัจจุบันหลักการในการจัดทำบัญชีได้ถูกปรับเปลี่ยนมุมมองไปบ้างแล้ว ซึ่งจะเน้นประสิทธิภาพของการรายงานทางการเงินที่น่าเชื่อถือมากขึ้น แต่ไม่ว่าแม่บทการบัญชี หรือมาตรฐานการบัญชี/การรายงานทางการเงินจะปรับเปลี่ยนกันไปอย่างไรนักบัญชีก็ต้องหมั่นเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเพิ่มความเข้าใจในการทำงานให้เกิดความรู้จริง รู้ลึก เพื่ออย่างน้อยจะได้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องตามที่มาตรฐานกำหนด

 

ธนพล  สุขมั่นธรรม : ผู้เขียน

 

—–

แหล่งที่มา : www.jobdst.com

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?