23 กุมภาพันธ์ 2565
สัญญาที่ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ
กฎหมายกำหนดให้การทำนิติกรรมสัญญาบางประเภทต้องทำเป็นหนังสือ หรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด มิฉะนั้น สัญญานั้น ๆ ย่อมตกเป็นโมฆะหรือไม่อาจนำมาฟ้องร้องบังคับคดีได้
โมฆะกรรม
คือ ความเสียเปล่า ไม่เกิดผลทางกฎหมาย ไม่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิแต่อย่างใด สิทธิ หน้าที่อย่างใด ๆ คงเป็นหรือมีอยู่เช่นเดียวกับในขณะที่ก่อนมีการทำนิติกรรมนั้น
การเช่าทรัพย์
การเช่าอสังหาริมทรัพย์ถ้ามีกำหนดไม่เกิน 3 ปี ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดมิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันไม่ได้
การเช่าซื้อ
สัญญาซึ่งเจ้าของจะเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนตามที่ตกลงกัน หากไม่ทำเป็นหนังสือจะตก “เป็นโมฆะ”
การกู้ยืมเงิน
การกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท ขึ้นไป ถ้าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืม มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันไม่ได้
การค้ำประกัน
ค้ำประกัน คือ สัญญาบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้นั้นไม่ชำระหนี้หากไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันไม่ได้
การตั้งตัวแทน
การตั้งตัวแทน เพื่อเรียกบุคคลหนึ่งว่าตัวแทน มีอำนาจแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าตัวการ กฎหมายกำหนดว่ากิจการใดที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้น ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
สัญญาประกันภัย
สัญญาประกันภัยจะต้องทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อของตัวแทนฝ่ายนั้น มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันไม่ได้
การประนีประนอมยอมความ
สัญญาประนีประนอมยอมความจะต้องทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้น มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันไม่ได้
การโอนหุ้นในบริษัทจำกัด
การโอนหุ้นในบริษัทจำกัด โดยเฉพาะการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในหุ้นจะต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานอย่างน้อย 1 คน ลงชื่อรับรองลายมือชื่อนั้นด้วย มิฉะนั้น สัญญานั้น ๆ ย่อมตกเป็นโมฆะ
การโอนหุ้น
จะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้ง การโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนี้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น
การโอนสิทธิเรียกร้อง
มีลักษณะเช่นเดียวกับการโอนทรัพย์สินทั่วไป ซึ่งกระทำได้โดยนิติกรรมสัญญาแสดงเจตนาโอนสิทธิระหว่างเจ้าหนี้กับผู้รับโอน เพื่อประโยชน์ตอบแทนหรือยกให้โดยเสน่หาก็ได้ ดังนั้นการโอนสิทธิเรียกร้องจึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมสัญญาเกี่ยวกับความสามารถ การแสดงเจตนาและวัตถุประสงค์ เช่นเดียวกับการทำนิติกรรมสัญญาด้วย สำหรับสิทธิเรียกร้องนั้นย่อมโอนให้กันได้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องนั้นจะเป็นสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ ซึ่งเป็นเงิน หรือส่งมอบทรัพย์สิน ทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
การโอนหนี้ที่จะพึงชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ต้องทำเป็นหนังสือ จึงนับว่าสมบูรณ์
การโอนหนี้
จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้ยินยอมด้วยในการโอนนั้นคำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ต้องทำเป็นหนังสือ
ข้อสำคัญเกี่ยวกับการโอนระหว่างเจ้าหนี้กับผู้รับโอน การที่จะยกการโอนนั้น ขึ้นอยู่กับลูกหนี้หรือบุคคลภายนอก ซึ่งสมควรพิจารณาตามลำดับ ดังนี้
การโอนหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับผู้รับโอน
การโอนหนี้อันพึ่งต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้ คนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น จะต้องทำเป็นหนังสือระหว่างเจ้าหนี้ผู้โอนกับผู้รับโอน เพราะเป็นสัญญาระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอนเฉพาะ
การโอนอันเกี่ยวกับลูกหนี้และบุคคลภายนอก
แม้การโอนสิทธิเรียกร้องจะได้ทำเป็นหนังสือระหว่างผู้โอนและผู้รับโอนแล้วก็ตาม ผู้โอนหรือผู้รับโอนก็ยังไม่อาจยกเอาการโอนนั้นขึ้นยันกับลูกหนี้หรือบุคลลภายนอกได้จนกว่าจะได้บอกกล่าวการโอนนั้นไปยังลูกหนี้เป็นหนังสือ หรือลูกหนี้ได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้นโดยได้ทำเป็นหนังสือแล้ว