ถูกทำร้ายร่างกาย…หนักแค่ไหนเรียกว่าสาหัส

ถูกทำร้ายร่างกาย…หนักแค่ไหนเรียกว่าสาหัส 

รู้หรือไม่? บทลงโทษการถูกทำร้ายร่างกายมีระดับหนัก เบา ไปจนถึงสาหัสด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ ย่อมมีเรื่องที่ควรต้องรู้และดึงสติให้ดี โดยบทความนี้ธรรมนิติจะพาไปทำความเข้าใจกันว่า ถูกทำร้ายร่างกาย หนักแค่ไหนเรียกว่าสาหัส

เมื่อถูกทำร้ายร่างกาย มีกฎหมายใดคุ้มครอง?

การทำร้ายร่างกาย มีกฎหมายให้ความคุ้มครองในทางอาญาไว้ โดยชัดเจนในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ลักษณะ 10 ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย หมวด 2 ความผิดต่อร่างกาย

และคดีทำร้ายร่างกายเป็นข้อหาทางอาญาซึ่งเป็นอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความได้ ดังนั้น เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นและถูกตั้งข้อหาแล้ว จึงต้องดำเนินคดีอาญาต่อไปจนถึงที่สุด

โทษทางอาญา ข้อหาทำร้ายร่างกายมีอะไรบ้าง?

• ทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

• ทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 200,000 บาท

• กรณีประมาท และทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

• กรณีเป็นทำร้ายร่างกาย แต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตราย (ลหุโทษ) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คำว่า สาหัส ในทางกฎหมาย แบ่งได้ตามกรณีดังต่อไปนี้ 

1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียประสาทการรับรู้กลิ่น

2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถในการสืบพันธุ์

3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด

4) หน้าเสียโฉมถาวร

5) แท้งลูก

6) จิตพิการถาวร

7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต

8) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บ หรือไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเกินกว่า 20 วัน

แม้ว่าจะมีการแก้ประมวลกฎหมายอาญา ปรับ และ เพิ่มการพิจารณาโทษ อย่างไร ในความเป็นจริงเราก็ยังคงเห็นข่าวผู้กระทำความผิดโดยใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหา โดยที่ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอาจมาจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งเพราะผู้กระทำความผิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย หรือรอการตัดสินจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้

แต่หากเรามองให้มุมผู้ถูกกระทำ หากเราใช้สติ ความใจเย็น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดการทะเลาะวิวาท การทำร้ายร่างกาย เพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินนั้น แม้จะยากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากวัดการรอคอยการตัดสิน หรือ ผลกระทบร่างกายและจิตใจ ธรรมนิติคิดว่าการไม่ปะทะยังคงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

 

ข้อมูลอ้างอิง

สำนักงานกิจการยุติธรรม

 

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?