รู้หรือไม่? 6 เรื่องนี้แบงก์ชาติไม่ได้ทำ!

ข่าวกลโกงต่างๆ ของเหล่ามิจฉาชีพที่หลอกให้เหยื่อติดกับ มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามยุคสมัย บ้างก็มาในรูปแบบการกล่าวอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ หรือบ้างก็มาในรูปแบบของเอกสารการทวงต่างๆ โดยเฉพาะจากหน่วยงานรัฐอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ ดังนั้นไปดูกันว่ามี 6 เรื่องอะไรบ้างที่แบงก์ชาติไม่ได้ทำ และหากเรื่องเหล่านั้นเกิดขึ้นก็ตีความได้เลยว่าคุณอยู่ในกลุ่มของเหยื่อที่กำลังจะโดนมิจฉาชีพหลอกเข้าแล้ว

6 เรื่องที่แบงก์ชาติไม่ได้ทำมีอะไรบ้าง?

1. ติดต่อแจ้งหนี้บัตรเครดิต

เหยื่อได้รับการติดต่อจากผู้อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติส่วนใหญ่จะตกใจ เพราะไม่ได้ถือบัตรเครดิตของสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึง หรือไม่ได้ใช้เงินในยอดที่สูงตามที่แจ้ง และส่วนใหญ่จะมีอาการงงๆ ประมวลผลช้าไปชั่วครู่ จึงเป็นจุดอ่อนให้มิจฉาชีพหลอกถามข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน จากนั้นก็หลอกให้ไปที่ตู้เอทีเอ็มเพื่อทำรายการโอนเงินตามที่มิจฉาชีพต้องการ

สิ่งที่ควรรู้ คือ แท้จริงแล้วแบงก์ชาติไม่มีข้อมูลลูกหนี้บัตรเครดิตรายบุคคล และการแจ้งหนี้จะเป็นหน้าที่ของธนาคารหรือสถาบันการเงินเจ้าของบัตรเครดิต

2. อายัดบัญชีเงินฝาก

มิจฉาชีพที่อ้างเป็นเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติจะแจ้งว่าเหยื่อมีการกระทำความผิดต่างๆ เช่น ฟอกเงิน พัวพันกับการค้ายาเสพติด และแจ้งว่าจะอายัดบัญชีเงินฝาก เพื่อทำให้เหยื่อตกใจ จากนั้นจะทำเป็นบอกว่ามีทางออกโดยจะโอนสายให้เจรจาต่อรองกับผู้มีอำนาจ จากนั้นก็จะถูกหว่านล้อมให้โอนเงินเข้ามาตรวจสอบ

สิ่งที่ควรรู้ คือ หากมีการทำผิดกฎหมายและต้องอายัดบัญชี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารนั้นๆ จะเป็นผู้ดำเนินการโดยตรง ไม่ผ่านแบงก์ชาติ และการอายัดจะเป็นแค่สั่งห้ามเคลื่อนย้ายเงิน โดยไม่ต้องโอนเงินออกมาให้ตรวจสอบ

3. ให้เจ้าของบัญชีโอนเงินเข้ามาเพื่อตรวจสอบ

การแจ้งให้โอนเงินเข้ามาตรวจสอบ อาจเป็นขั้นตอนต่อเนื่องมาจากกรณีข้อ 1 และ 2 หรือเหยื่อบางรายก็ถูกแจ้งตรงๆ ว่าทำผิดกฎหมาย ให้โอนเงินเข้ามาตรวจสอบก็มี

สิ่งที่ควรรู้ คือ การตรวจสอบความผิดปกติของบัญชีเงินฝากนั้นเป็นการตรวจสอบในส่วนของที่มาที่ไปและเส้นทางการเงิน แต่ไม่ใช่การให้โอนเงินเข้ามาตรวจสอบ

4. เก็บค่าธรรมเนียมหรืออนุญาตให้นำเงินต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย

กรณีนี้มักเกินขึ้นกับกลโกงที่มิจฉาชีพให้เพื่อหลอกเหยื่อว่าอยากหาคู่และหลอกจีบเหยื่อผ่าน Facebook จากนั้นแจ้งว่าจะโอนเงินมาให้หรือสั่งซื้อสินค้าข้ามประเทศเพื่อเป็นของขวัญให้เหยื่อ แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้แบงก์ชาติก่อน จึงจะได้รับเงินหรือซื้อสินค้าได้ ทำให้เหยื่อหลงเชื่อและโอนเงินดังกล่าว

สิ่งที่ควรรู้ คือ การรับเงินโอนจากต่างประเทศเข้าบัญชีในไทยสามารถทำได้โดยผ่านธนาคารพาณิชย์หรือตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับแบงก์ชาติ ดังนั้นการกล่าวอ้างว่าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้แบงก์ชาติ นั้นจึงเป็นกลโกงอย่างหนึ่งที่ควรระวังไว้

5. ส่ง Line Account ของแบงก์ชาติหาเจ้าของบัญชี

มิจฉาชีพจะสร้าง Line Account ขึ้นมาโดยใช้ชื่อและภาพประกอบชวนเชื่อว่าเป็นของแบงก์ชาติ จากนั้นส่งข้อความบอกเหยื่อให้โอนเงินมาให้แบงก์ชาติตรวจสอบโดยด่วน

สิ่งที่ควรรู้ คือ แบงก์ชาติไม่มี Line Account สำหรับติดต่อสื่อสารกับประชาชนโดยตรง

6. อนุมัติหรือรับรองโครงการเงินกู้หรือโครงการลงทุนต่างๆ

มิจฉาชีพจะติดต่อแจ้งเหยื่อว่าแบงก์ชาติมีโครงการหรือเงินทุนช่วยเหลือประชาชน ด้วยเงินทุนจำนวนมากเตรียมปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำจากหน่วยงานในหรือต่างประเทศ หากสนใจต้องให้เอกสารสำคัญก่อนถึงจะได้เงินกู้ เช่น สำเนาบัตรประชาชน หรือต้องจ่ายค่าสมัครสมาชิก และอาจจะเสริมด้วยว่าให้เหยื่อเตรียมทำหนังสือเดินทางไว้เพื่อจะได้ไปดูงานที่ต่างประเทศ เพราะโครงการอยู่ในขั้นตอนการรออนุมัติ หรือพิจารณาจากแบงก์ชาติ หากเรียบร้อยแล้วจะได้พร้อมเดินทางเลย

สิ่งที่ควรรู้ คือ หากมีผู้ติดต่อมาแจ้งดังกล่าวให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนและติดต่อสอบถามโดยตรงกับแบงก์ชาติทันทีที่เบอร์ 1213 และหากมีโครงการต่างๆ จริง จะมีการประกาศผ่านสื่อหรือเว็บไซต์ของแบงก์ชาติเอง คือ www.bot.or.th

 

ดังนั้นหากได้รับการติดต่อจากผู้แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติ หรือข้อความต่างๆ ที่ส่งมาจากช่องทางที่ไม่น่าไว้ใจแม้ภาพหรือข้อความจะบ่งบอกว่าเป็นแบงก์ชาติก็ขอให้ตรวจสอบข้อมูลที่มาที่ไปอย่างละเอียด รอบคอบ และมีสติ ก่อนดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการโอนเงินหรือส่งเอกสารสำคัญ เพราะนั่นอาจหมายถึงคุณกำลังตกเป็นเหยื่อและถูกมิจฉาชีพหลอกอยู่

 

อ้างอิงข้อมูล
ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?