ผู้ประกันตนควรรู้ ไม่ว่าจะประสบอันตรายขณะทำงาน หรือเกิดเหตุสุดวิสัยอย่างแผ่นดินไหว ระบบประกันสังคมมีหลักประกันรองรับ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทนรายได้ รวมถึงค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในกรณีบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ และยังครอบคลุมถึงกรณีที่นายจ้างปิดกิจการจากภัยพิบัติ ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด รู้สิทธิ์ไว้ ป้องกันความเสี่ยงในอนาคต เพราะความเข้าใจเรื่องสิทธิประโยชน์จะช่วยให้คุณไม่พลาดความช่วยเหลือในวันที่ต้องการมากที่สุด
ลูกจ้างประสบอันตรายขณะปฏิบัติงาน
กรณีบาดเจ็บ
• ค่ารักษาพยาบาลตามความจำเป็น ไม่เกิน 65,000 บาท หากบาดเจ็บรุนแรง จ่ายให้สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาท
• ค่าทดแทนรายเดือน กรณีที่ต้องหยุดรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ จ่ายไม่เกิน 1 ปี ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาทต่อเดือน
กรณีตาย หรือ สูญหาย
• จ่ายค่าทดแทน ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาท ต่อเดือน ให้กับผู้มีสิทธิ เป็นระยะเวลา 10 ปี
• ค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท
• เงินบำเหน็จกรณีชราภาพจากกองทุนประกันสังคม
กรณีสูญเสียอวัยวะ /สูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน
• จ่ายค่าทดแทน ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 14,000 บาท/เดือน จ่ายได้ไม่เกิน 120 เดือน
กรณีลูกจ้างสูญเสียอวัยวะ หรือ ทุพพลภาพ และจำเป็นต้องฟื้นฟูสมรรถภาพ
• ค่าใช้จ่ายในกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพ ในการทำงานด้านการแพทย์ โดยเป็น ค่ากายภาพบำบัด ไม่เกินวันละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทางกิจกรรมบำบัดไม่เกินวันละ 100 บาท เมื่อรวมกันแล้ว ต้องไม่เกิน 24,000 บาท
• ค่าใช้จ่ายในกระบวนการบำบัดรักษาและผ่าตัด เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 40,000 บาท หากมีความจำเป็นให้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก ไม่เกิน 140,000 บาท แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 180,000 บาท โดยให้คณะกรรมการทางการแพทย์ผู้มีอำนาจ พิจารณา
• ค่าวัสดุและอุปกรณ์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู หน่วยละไม่เกินอัตราตามที่กระทรวงการคลังกำหนด เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 160,000 บาท
• ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานด้านอาชีพ ให้จ่ายได้เฉพาะที่เป็นการฝึกตามหลักสูตร ที่หน่วยงานประกันสังคมเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกิน 24,000 บาท
กรณีประสบอันตราย ที่ไม่เนื่องจากการทำงาน จากเหตุแผ่นดินไหว
กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือ เกิดอุบัติเหตุ
• ผู้ประกันตน มีสิทธิเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง ภายใน 72 ชั่วโมง อัตราตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์
กรณีนายจ้างปิดสถานประกอบการ จากเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว
• ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีว่างงานสุดวิสัย ในอัตรา ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน
• สามารถยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) ได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ / จังหวัด / สาขาทั่วประเทศได้ทันที พร้อมหนังสือรับรองจากนายจ้าง
• ผู้ประกันตน สามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยได้ ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม ติดต่อ 1506
อ่านบทความอื่นๆ
ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 เสียชีวิต ทายาทมีสิทธิ์อะไรบ้าง?
สิทธิประกันสังคมเริ่มคุ้มครองเมื่อใด
เรื่องควรรู้! สิทธิ์ต่อเนื่องพึงได้เมื่อผู้ประกันตนมาตรา 33 ลาออกจากงาน