รู้หรือไม่…เช็คกับแคชเชียร์เช็ค แตกต่างกันอย่างไร?

20 พฤษภาคม 2565

check cashier check

การใช้จ่ายเงินในปัจจุบันมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนโดยมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำธุรกรรมต่างๆ แทนการถือเงินสดมากขึ้น ด้วยเพราะสินค้าบางอย่างมีมูลค่าสูงจึงไม่เหมาะที่จะถือเงินสดจำนวนมากจ่าย รวมทั้งยังก่อให้เกิดความเสี่ยงทั้งเงินและตัวผู้พกเงินสด ที่สำคัญในยุคไร้เงินสดนี้ความสะดวกสบายคือปัจจัยอันดับต้นๆ ที่หลายคนนึกถึง ดังนั้นวันนี้เราจึงอยากพามาทำความรู้จักกับเช็คและแคชเชียร์เช็ค กระดาษแผ่นเล็กๆ ที่สามารถใช้แทนเงินสดได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

มาทำความรู้จัก เช็ค และ แคชเชียร์เช็คกัน

เช็คคืออะไร?

เช็ค คือ เอกสารในรูปแบบของตราสาร ซึ่งมีบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้สั่งจ่าย” สั่งให้ “ธนาคาร” ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ผู้รับเงิน”

 

ผู้เกี่ยวข้องกับเช็ค

การใช้จ่ายเช็คจะประกอบไปด้วยผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 4 ส่วน คือ
1. ผู้สั่งจ่ายเช็ค ​​​​​คือ ผู้ที่เปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคาร และเซ็นสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระเงินแก่ผู้รับเงิน
2. ผู้รับเงิน ​​​​​(ผู้ทรงเช็ค) คือ ผู้ที่ได้รับเช็คจากผู้สั่งจ่าย และนำเช็คที่ได้ไปฝากเรียกเก็บเงินที่ธนาคาร เพื่อเบิกเป็นเงินสด หรือนำเงินเข้าบัญชีธนาคารตน
​​3. ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บ (Sending Bank) ​​เป็นธนาคารที่ผู้รับเงินได้เปิดบัญชีไว้ เมื่อผู้รับเงินนำเช็คไปฝากเรียกเก็บเงิน หากเป็นเช็คของธนาคารอื่น ธนาคารก็จะส่งข้อมูลและภาพเช็คไปเรียกเก็บเงินกับธนาคารผู้จ่าย และจะนำเงินเข้าบัญชีของผู้รับเงินหลังทราบผลการเรียกเก็บเงิน
4. ธนาคารผู้จ่าย (Paying Bank) เป็นธนาคารที่ผู้สั่งจ่ายเช็คได้เปิดบัญชีไว้ ทำหน้าที่ตรวจสอบลายเซ็น และเงื่อนไขการสั่งจ่าย แล้วจึงหักเงินจากบัญชีของผู้สั่งจ่ายเพื่อจ่ายเงินให้แก่ธนาคารของผู้รับเงิน (หรือธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บ)

 

ประเภทของเช็ค

ปัจจุบันตามกฎหมาย มีการแบ่งประเภทของเช็ค ดังนี้

• เช็ค​บุคคลธรรมดา คือ เช็คที่บุคคลธรรมดาเป็นผู้สั่งจ่ายเงินตามเช็ค

• เช็คนิติบุคคล คือ เช็คที่องค์กร หรือบริษัทเป็นผู้สั่งจ่ายเงินตามเช็ค

• แคชเชียร์เช็ค คือ เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายเงินตามเช็ค และระบุชื่อผู้รับเงินอย่างชัดเจน ลูกค้าจะเสียค่าธรรมเนียมการซื้อแคชเชียร์เช็คฉบับละ 20 บาท ส่วนใหญ่ผู้รับเงินนิยมนำไปขึ้นเงินภายในจังหวัดเดียวกัน เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการเรียกเก็บ แต่หากนำไปขึ้นเงินในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จังหวัดเดียวกับสาขาธนาคารที่ออกเช็คอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการเรียกเก็บเช็ค เช่น หมื่นละ 10 บาทของจำนวนเงินตามเช็ค

• เช็คของขวัญ มีลักษณะเช่นเดียวกับแคชเชียร์เช็ค ส่วนใหญ่นิยมมอบให้แก่ผู้รับในโอกาสพิเศษ

• ดราฟต์ แตกต่างจากแคชเชียร์เช็คและเช็คของขวัญ โดยผู้ซื้อดราฟต์ต้องเสียค่าธรรมเนียมการซื้อตามราคาบนหน้าดราฟต์ เช่น หมื่นแรก 10 บาท หมื่นต่อไป หมื่นละ 5 บาท (ขั้นต่ำ 10 – 20 บาท สูงสุด 1,000 บาท) แต่ผู้รับเงินไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเมื่อนำไปขึ้นเงินในจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดเดียวกับสาขาที่ออกดราฟต์

• เช็คขีดคร่อม คือ เช็คที่ผู้รับเงินต้องนำฝากเช็คเข้าบัญชีก่อนที่จะเบิกเป็นเงินสดเท่านั้น โดยเช็คขีดคร่อมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เช็คขีดคร่อมทั่วไป กับเช็คขีดคร่อมเฉพาะ​

  1) เช็คขีดคร่อมทั่วไป ผู้รับเงินต้องนำเช็คฝากเข้าบัญชีเท่านั้น โดยสามารถนำฝากเข้าบัญชีของธนาคารใดก็ได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ​​

–  หากเป็นเช็คระบุ “หรือผู้ถือ” ผู้ทรงเช็คหรือผู้รับเงินสามารถนำฝากเช็คนั้นเข้าบัญชีที่ธนาคารใดก็ได้

–  หากเป็นเช็คระบุ “หรือตามคำสั่ง” ต้องนำฝากเช็คเข้าบัญชีผู้รับเงินที่ระบุในเช็ค หรือ หากนำเข้าบัญชีผู้อื่นต้องมีการเซ็นโอนสลักหลังเช็คนั้นด้วย

  2) ช็คขี​ดคร่อมเฉพาะ เป็นเช็คที่ระบุชื่อธนาคารไว้ภายในเส้นขนาน และผู้รับเงินจะต้องนำเช็คฝากเข้าบัญชีธนาคารตามที่ระบุไว้เท่านั้น

เช็คกับแคชเชียร์เช็ค แตกต่างกันอย่างไร

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าแคชเชียร์เช็คเป็นเช็คประเภทหนึ่ง ดังนั้นหากเทียบถึงความแตกต่างจึงสรุปได้ดังนี้
1. เช็คทั่วไปเปรียบเหมือนบัตรเครดิต ที่เจ้าของเช็คอาจจะมีเงินหรือไม่มีเงินอยู่ในบัญชีก็ได้ และทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาเช็คเด้งได้ ส่วนแคชเชียร์เช็คเปรียบเสมือนบัตรเดบิต ซึ่งจะมีเงินอยู่ในเช็คเสมอ เพราะผู้ซื้อได้ซื้อแคชเชียร์เช็คจากธนาคารตามจำนวนเงินที่ระบุไว้เรียบร้อยแล้ว จึงหมดปัญหาเรื่องเช็คเด้ง ยกเว้นก็แต่กรณีที่ธนาคารที่ซื้อแคชเชียร์เช็คนั้นมีปัญหาทางการเงินหรือล้มละลาย

2. เช็คทั่วไปผู้สั่งจ่ายอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัท ส่วนผู้จ่ายจะเป็นธนาคาร ส่วนแคชเชียร์เช็คนั้นธนาคารจะเป็นทั้งผู้สั่งจ่ายและผู้จ่ายเงิน

3. เช็คทั่วไปนั้นผู้ขอออกเช็คจะต้องมีบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารที่ออกเช็ค ส่วนแคชเชียร์เช็คนั้นผู้ขอออกเช็คไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารที่ออกแคชเชียร์เช็ค

 

อ้างอิงข้อมูล

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?