เช็ค มีกี่ประเภทและควรระวังอย่างไรเมื่อใช้งาน?

20 พฤษภาคม 2565

 

เช็ค ถือเป็นหนึ่งทางเลือกการใช้จ่ายเงินที่ได้รับความนิยม เพราะมีความสะดวก ปลอดภัย และมีหลักฐานการทำรายการชัดเจน ง่ายต่อการตรวจสอบ แต่การเลือกใช้งานเช็คในการใช้จ่ายแทนเงินสดทั้งผู้สั่งจ่ายเช็คและผู้รับเงินก็ควรตรวจสอบความถูกต้องอย่างละเอียด เพื่อลดปัญหาที่จะตามมาภายหลัง โดยมีข้อควรระวังเรื่องอะไรบ้างลองตามไปดูกัน

 

เช็ค (Cheque) คืออะไร?

เช็ค คือ เอกสารในรูปแบบของตราสาร ที่สามารถใช้จ่ายเงินหรือชำระหนี้ให้ผู้อื่นได้แทนการจ่ายเงินสดเป็นก้อน โดยอาจมีการกำหนดระยะเวลาในการมารับเงินได้

 

ใครเกี่ยวข้องกับเช็คบ้าง?

สำหรับการใช้จ่ายเช็คนั้น มีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 4 ส่วน คือ

1. ผู้สั่งจ่ายเช็ค คือ ผู้ที่เปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคาร และเซ็นสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระเงินแก่ผู้รับเงิน

2. ผู้รับเงิน (ผู้ทรงเช็ค) คือ ผู้ที่ได้รับเช็คจากผู้สั่งจ่าย และนำเช็คที่ได้ไปฝากเรียกเก็บเงินที่ธนาคาร เพื่อเบิกเป็นเงินสด หรือนำเงินเข้าบัญชีธนาคารตน

3. ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บ (Sending Bank) เป็นธนาคารที่ผู้รับเงินได้เปิดบัญชีไว้ เมื่อผู้รับเงินนำเช็คไปฝากเรียกเก็บเงิน หากเป็นเช็คของธนาคารอื่น ธนาคารก็จะส่งข้อมูลและภาพเช็คไปเรียกเก็บเงินกับธนาคารผู้จ่าย และจะนำเงินเข้าบัญชีของผู้รับเงินหลังทราบผลการเรียกเก็บเงิน

4. ธนาคารผู้จ่าย (Paying Bank) เป็นธนาคารที่ผู้สั่งจ่ายเช็คได้เปิดบัญชีไว้ ทำหน้าที่ตรวจสอบลายเซ็น และเงื่อนไขการสั่งจ่าย แล้วจึงหักเงินจากบัญชีของผู้สั่งจ่ายเพื่อจ่ายเงินให้แก่ธนาคารของผู้รับเงิน (หรือธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บ)

 

 

เช็คมีกี่ประเภท?

การแบ่งประเภทของเช็คสามารถแบ่งได้ตามลักษณะการสั่งจ่ายได้ 2 แบบ ในแต่ละแบบมีประเภทเช็คแยกย่อยไปตามรายละเอียดดังนี้

1. เช็คสั่งจ่ายโดยลูกค้า

• เช็คบุคคลธรรมดา คือ เช็คที่บุคคลธรรมดาเป็นผู้สั่งจ่ายเงินตามเช็ค

• เช็คนิติบุคคล คือ เช็คที่องค์กร หรือบริษัทเป็นผู้สั่งจ่ายเงินตามเช็ค

2. เช็คสั่งจ่ายโดยธนาคาร

• แคชเชียร์เช็ค คือ เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายเงินตามเช็ค และระบุชื่อผู้รับเงินอย่างชัดเจน ลูกค้าจะเสียค่าธรรมเนียมการซื้อแคชเชียร์เช็คฉบับละ 20 บาท โดยผู้รับนิยมนำไปขึ้นเงินภายในจังหวัดเดียวกันกับสาขาธนาคารที่ออกเช็ค เพื่อไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการเรียกเก็บ แต่หากนำไปขึ้นเงินในจังหวัดอื่นอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการเรียกเก็บเช็ค เช่น หมื่นละ 10 บาทของจำนวนเงินตามเช็ค

• เช็คของขวัญ มีลักษณะเช่นเดียวกับแคชเชียร์เช็ค ส่วนใหญ่นิยมมอบให้แก่ผู้รับในโอกาสพิเศษต่างๆ

• ดราฟต์ แตกต่างจากแคชเชียร์เช็คและเช็คของขวัญ โดยผู้ซื้อดราฟต์ต้องเสียค่าธรรมเนียมการซื้อตามราคาบนหน้าดราฟต์ เช่น หมื่นแรก 10 บาท หมื่นต่อไปหมื่นละ 5 บาท (ขั้นต่ำ 10 – 20 บาท สูงสุด 1,000 บาท) แต่ผู้รับเงินไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเมื่อนำไปขึ้นเงินในจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดเดียวกับสาขาธนาคารที่ออกดราฟต์

 

รายละเอียดบนเช็คที่ควรตรวจสอบ

สิ่งที่มีแสดงอยู่บนเช็คนั้น ถือเป็นหลักฐานยืนยันว่ากระดาษแผ่นนั้นๆ เป็นเช็คที่ถูกต้องของธนาคาร โดยควรมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

• มีตัวหนังสือที่ระบุว่าเป็นเช็ค และมีเลขที่กำกับ

• มีชื่อธนาคารระบุไว้บนเช็ค

• มีตัวเลขจำนวนเงินหรือคำสั่งจ่ายเงินบนเช็คถูกต้องชัดเจน

• ความถูกต้องชัดเจนของชื่อหรือบริษัทผู้รับเงิน (ผู้ทรงเช็ค)

• ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็ค ที่จะต้องเป็นแบบเดียวกันกับที่เปิดบัญชีหรือที่แจ้งไว้กับธนาคาร

• วัน เดือน ปี และสถานที่ที่ออกเช็ค

 

ข้อดีของการใช้เช็คแทนเงินสด

• ทำให้กิจการมีสภาพคล่องกรณีที่ต้องใช้เงินสดหมุนเวียนตลอด ซึ่งสามารถจัดสรรเงินสดไปใช้ในส่วนที่จำเป็นกว่าก่อนได้

• มีความปลอดภัยมากกว่าการจ่ายชำระด้วยเงินสดจำนวนมากๆ ทั้งกับผู้สั่งจ่ายเช็คและผู้รับ

• มีหลักฐานการทำธุรกรรมกับธนาคาร ทำให้ตรวจสอบการทำรายการย้อนหลังได้ง่าย

 

เรื่องควรระวังเมื่อใช้เช็ค

• ควรตรวจสอบวันหมดอายุของเช็ค เพราะโดยทั่วไปจะมีอายุไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่สั่งจ่ายบนหน้าเช็ค

• บนเช็คต้องมีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายที่ตรงกันกับที่ใช้เปิดบัญชีหรือที่แจ้งไว้กับธนาคาร

• จำนวนเงินที่ระบุบนเช็คมีความถูกต้องชัดเจนทั้งตัวหนังสือและตัวเลข

 

เรื่องเงินทองเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจผันผวนเพราะวิกฤติต่างๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของหลายคนและหลายบริษัท ดังนั้นการใช้เช็ค หรือรับเช็ค ผู้เกี่ยวข้องควรตรวจสอบความถูกต้องชัดเจนอย่างละเอียด เพื่อป้องกันความผิดพลาด ซึ่งอาจตามมาด้วยความเสียหายและโอกาสต่างๆ

 

อ้างอิงข้อมูล
ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน www.1213.or.th

 

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?