05 พฤศจิกายน 2562
ลิขสิทธิ์สำคัญแค่ไหน … หากใช้ของปลอมจะผิดอย่างไร
รู้หรือไม่! ลิขสิทธิ์เป็นผลงานที่เกิดจากการใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถ และความวิริยะ อุตสาหะในการสร้างสรรค์งานให้เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง
งานสร้างสรรค์ที่ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์
• งานวรรณกรรม (หนังสือ ภาพถ่าย โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ)
• งานนาฏกรรม (ท่ารำ ท่าเต้น ฯลฯ)
• งานศิลปกรรม (จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย ฯลฯ)
• งานดนตรีกรรม (ทำนอง เนื้อร้อง ฯลฯ)
• งานสิ่งบันทึกเสียง (เทปเพลง ซีดี)
• งานโสตทัศนวัสดุ (ดีวีดี วีดีโอ ที่มีทั้งภาพและเสียง)
• งานภาพยนตร์
• งานแพร่เสียงแพร่ภาพ (กระจายเสียงวิทยุ ฯลฯ)
• งานอื่น ๆ ในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ ศิลปะ
งานทั่ว ๆ ไป ลิขสิทธิ์จะมีตลอดอายุผู้สร้างสรรค์ และจะมีต่อไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย กรณีเป็นนิติบุคคล ลิขสิทธิ์จะมีอยู่ 50 ปี นับตั้งแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
“สินค้าลอกเลียนแบบ” หรือ “ของก๊อป” ผิดอย่างไร ?
ของก๊อป เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงการปลอมและละเมิดเครื่องหมายการค้าด้วย
ความผิดตามลิขสิทธิ์
1. การทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน “สินค้าอันมีลิขสิทธิ์” โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ถือเป็นความผิดตามมาตรา 27 พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
* มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท แต่หากทำเพื่อขายระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 – 800,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 69)
2. หากนำ “สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์” ไป ขาย เช่า เผยแพร่ แจกจ่าย นำเข้า สั่งเข้ามา หรือหาผลกำไร โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ถือเป็นความผิดตามมาตรา 31 พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
* มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท แต่หากทำเพื่อการค้าขาย ระวางโทษจำคุก 3 เดือน ถึง 2 ปี ปรับตั้งแต่ 50,000 – 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 70)
ความผิดตามเครื่องหมายการค้า
• กรณี ปลอม เครื่องหมายการค้า มีความผิดตามมาตรา 108 พรบ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 4 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 400,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
• กรณี เลียนแบบ / ดัดแปลง เครื่องหมายการค้า มีความผิดตามมาตรา 109 พรบ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แล้ว “ผู้ซื้อของก็อป” ผิดอย่างไร ?
สำหรับผู้ซื้อหรือใช้ของก็อป ปัจจุบันยังไม่มีบทกำหนดความผิดของผู้ซื้อ ดังนั้นผู้ซื้อของก๊อปหรือสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์จึงไม่มีความผิด แต่ต้องเป็นการซื้อและใช้ในประเทศเท่านั้น หากเป็นการซื้อแล้วนำเข้าหรือส่งออกซึ่งสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ โดยรู้ว่าสินค้าดังกล่าวเป็นของก็อป จะมีความผิดตามมาตรา 31 พรบ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
———-
แหล่งที่มา : www.facebook.com/dharmnitigroup