ลูกจ้างหมิ่นประมาทนายจ้างแบบไหน เข้าข่ายมีความผิดทางกฎหมาย
ลูกจ้างต้องมีการสื่อสารข้อมูลไปยังบุคคลที่สาม
การสื่อสารระหว่างผู้กระทำความผิด (ลูกจ้าง) กับบุคคลที่สาม เช่น การพูดคุยต่อหน้า การสื่อสารทางโทรศัพท์ วิดีโอคอล การส่งข้อความทางแอปพลิเคชันสื่อสารต่างๆ เช่น Line, Facebook Messenger การโพสต์ข้อความบน Facebook, Twitter, Instagram
ข้อมูลที่สื่อสารต้องเป็นการใส่ความผู้เสียหาย
“ใส่ความ เป็นถ้อยคำในกฎหมายที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในความผิดฐานหมิ่นประมาท การใส่ความอาจจะเป็นข้อเท็จจริงที่อาจเป็นความจริง หรือเป็นความเท็จ แม้กระทั่งการเล่าเรื่องที่ฟังมาจากบุคคลอื่นให้บุคคลที่สามฟัง ก็เข้าข่ายคำว่า “ใส่ความ”
ทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
การใส่ความ แม้เพียง “น่าจะ” ทำให้ผู้เสียหาย (นายจ้าง) เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ถือว่าครบองค์ประกอบของการกระทำความผิด แม้ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น