02 มีนาคม 2565

หมายเหตุธรรมนิติ

จากสำนักงานทนายความ เติบโตสู่ “เครือธรรมนิติ” ที่มีบริษัทในเครือถึง 10 บริษัท มีบริการครบวงจรทั้งด้านกฎหมาย บัญชี ตรวจสอบบัญชี ตรวจสอบภายใน อบรมสัมมนา สื่อสิ่งพิมพ์ และบริการด้านสารสนเทศ  และด้วยการนำพาของผู้นำของธรรมนิติ เราจึงพบกับความสำเร็จมาตลอด  72  ปีและอีกต่อไปในอนาคต

“ธรรมนิติ” แม้จะเป็นองค์กรธุรกิจ แต่เรามีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจโดยทั่วไป ชาวธรรมนิติทั้งปวงจึงต้องสนใจ และทำความเข้าใจสภาพการณ์นี้ โดยเฉพาะลักษณะพิเศษที่ทำให้เรามีความแตกต่างจากองค์กรธุรกิจทั่วไป ที่สำคัญได้แก่

 

1. ลักษณะประวัติศาสตร์ ที่ธรรมนิติดำเนินงานต่อเนื่องมาถึง 43 ปีแล้ว โดยไม่มี “เจ้าของ” คือไม่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สามารถควบคุมกิจการได้โดยสิทธิขาด ความ “ไม่มีเจ้าของ” นี้ ได้ทำให้ธรรมนิติเป็นของชาวธรรมนิติทุกๆ คน นี่เป็นข้อดีข้อเด่นของเรา เพราะ “ความไม่มีเจ้าของ” โดยนัยเช่นนี้ ทำให้ธรรมนิติ ได้รับการทะนุถนอม หวงแหน และได้รับการพิทักษ์สืบทอดโดยคนหมู่มาก อันเป็นปัจจัยแห่งการสืบทอดธรรมนิติจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งอย่างราบรื่น โดยไม่ดับสูญไป ดังที่ธุรกิจหลายแห่งซึ่งมี “เจ้าของ” เพียงคนเดียวกำลังประสบอยู่โดยทั่วไป

 

2. ลักษณะปรัชญาชี้นำ เราถือ “วิถีแห่งธรรมนิติ” เป็นปรัชญาชี้นำการดำเนินงาน การจัดองค์กร การปฏิบัติต่อคน ทั้งต่อชาวธรรมนิติและลูกค้า ตลอดจนการสร้างสรรค์ด้านต่างๆ ของเรา ในการขยายธุรกิจ เราถือทฤษฎีกอไผ่และในเรื่องเป้าหมายของธุรกิจเราเน้นผลกำไรที่ไม่เป็นตัวเงิน (ที่สำคัญได้แก่เกียรติภูมิ ความเชื่อถือ ความศรัทธาจากมหาชน) เป็นด้านหลัก และถือเอาผลกำไรที่เป็นตัวเงินเป็นด้านรอง และด้วยเหตุนี้ธรรมนิติจึงมีงบดุล 2 ชุด คืองบดุลตามกฎหมายว่าด้วยบัญชีและภาษีอากร กับงบดุลตามแนวทางปรัชญาของเรา ซึ่งมีสินทรัพย์ หนี้สิน รายได้ รายจ่าย กำไร และขาดทุน ที่ไม่เป็นตัวเงินอีกด้วย

 

3. ลักษณะการบริหาร เราเชิดชูการบริหารแบบประชาธิปไตย และการนำรวมหมู่องค์กรทุกระดับชั้นของเราประกอบขึ้นและบริหารโดยคณะบุคคลและใช้วิธีประชาธิปไตยในการดำเนินงาน ด้วยท่วงทำนองที่ถนอมรักผู้ปฏิบัติงาน การบริหารและท่วงทำนองเช่นนี้ได้ตราไว้เป็นข้อบังคับของบริษัท และมีผลบังคับทุกๆ คนที่เป็นชาวธรรมนิติ และเป็นเรื่องที่ชาวธรรมนิติพึงน้อมใจนำมาปฏิบัติ

 

4. ลักษณะครบวงจรและก้าวหน้า ธรรมนิติเป็นองค์กรธุรกิจวิชาชีพที่มุ่งดำเนินงานบริการวิชาชีพครบวงจร ทำให้ลูกค้าของเราได้รับความสะดวกรวดเร็ว และได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการใช้บริการของเรา ธุรกิจที่ครบวงจรนี้จำต้องมีลักษณะที่ก้าวหน้าด้วย ดังนั้น การสร้างเสริมความรู้ เครื่องไม้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามารับใช้องค์กรของเราจึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจังต่อไป

 

5. ลักษณะเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองและพึ่งตนเอง ธรรมนิติเป็นสถาบันวิชาชีพอิสระที่ไม่สังกัดกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มการเมืองใด เราจะไม่ตั้งตนเป็นศัตรูกับใครโดยเฉพาะ ทั้งเราจะไม่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกับกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มการเมืองใดเป็นพิเศษ ดังนั้น เราจึงสามารถให้บริการแก่องค์กรธุรกิจต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง ไม่มีขอบเขตและไม่มีที่สิ้นสุด การพัฒนาเติบใหญ่ของธรรมนิติตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสนับสนุนช่วยเหลือของลูกค้าและมิตรของเราจำนวนมาก แต่ที่สำคัญเกิดขึ้นจากความมานะพยายามของชาวธรรมนิติเอง แต่ไหนแต่ไรมา แนวนโยบายและแผนงานทั้งปวงของธรรมนิติล้วนเริ่มต้น และตั้งอยู่บนรากฐานแห่งกำลังของเราเอง ด้านหนึ่งเราส่งเสริมให้ชาวธรรมนิติสร้างความสัมพันธ์อันดี และแสวงหาความร่วมมือสนับสนุนกับองค์กรต่างๆ อย่างกว้างขวาง แต่อีกด้านหนึ่งเราก็คัดค้านการนำธรรมนิติไปอิงหรืออยู่ภายใต้อิทธิพลขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง เหล่านี้คือลักษณะที่เป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองและพึ่งตนเองของธรรมนิติ

 

(อาคารธรรมนิติ เลขที่ 178 ซอยเพิ่มทรัพย์ (ประชาชื่น 20) ถนนประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ)

 

ชาวธรรมนิติ ไม่ใช่เป็นแค่พนักงานหรือลูกจ้าง หากเราคือ ผู้สืบทอดภารกิจ

สืบทอดอุดมการณ์ของธรรมนิติจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง

“พิทักษ์นามธรรมนิติให้ยืนยงทรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ความศรัทธา เชื่อมั่นของมหาชนตลอดไป”

 

หมายเหตุ บางตอนจากมติสภากรรมการ “ว่าด้วยเป้าหมาย แนวทาง นโยบาย และแผนงานปี 2533” ซึ่งสภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 53 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2532 ข้อความดังกล่าวเป็นการอรรถาธิบายเกี่ยวกับลักษณะพิเศษของธรรมนิติ ซึ่งผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และพนักงานควรให้ความสนใจ

 

สำนักกรรมการจัดการ

13 กันยายน 2534

1. “ธรรมนิติ” นามนี้มีความงดงามทั้งโดยพยัญชนะ และโดยอรรถ บ่งชี้แจ้งชัดถึงลักษณะธุรกิจ และปรัชญาในการประกอบธุรกิจ เมื่อปีพุทธศักราช 2490 คุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน ได้ถือเอานามนี้เป็นชื่อสำนักงานทนายความ โดยใช้ชื่อว่า “สำนักงานทนายความธรรมนิติ”
ในปีพุทธศักราช 2526 นี้ “ธรรมนิติ” ก็จะมีอายุครบ 36 ปี ในวาระอันสำคัญนี้จึงสมควรที่จะได้กล่าวถึงวิถีแห่งธรรมนิติ เพื่อที่คนทั้งหลายจะได้ทราบถึงความเป็นมา และความที่จะเป็นไป

 

(โดย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์)

 

2. ความเป็นมาของธรรมนิติเมื่อ 36 ปีก่อนอาจแบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือช่วงที่ยังเป็น “สำนักงานทนายความธรรมนิติ” ช่วงหนึ่ง และช่วงที่เป็น “บริษัท ธรรมนิติ จำกัด” อีกช่วงหนึ่ง ในช่วงแรกตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2490 จนถึงปีพุทธศักราช 2520 รวม 30 ปี “ธรรมนิติ” อยู่ในโครงสร้างขององค์กร “สำนักงานทนายความ” ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ธรรมนิติเป็นสำนักงานทนายความโดยตลอด มีอยู่บางช่วงที่รับบริการด้านบัญชีบ้าง ท่องเที่ยวบ้าง แต่ไม่อาจถือเป็นธุรกิจโดยตรงได้ เพราะระยะเวลาทำกิจการนั้นๆ สั้นมาก และได้เลิกไป ทั้งนี้ ก็โดยผู้ร่วมงานช่วงนั้นได้แยกงานด้านบัญชีออกไปดำเนินการเองต่างหาก คุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน ผู้ก่อตั้งธรรมนิติ จึงเป็นผู้ที่ดำเนินกิจการของสำนักงานตลอดมา ในช่วงเวลา 30 ปีนี้ ธรรมนิติได้สร้างคนจำนวนไม่น้อยบ้างออกไปรับราชการเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ และสังกัดหน่วยราชการอื่นๆ บ้างออกไปประกอบอาชีพภาคเอกชน มีธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น จนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช 2520 คุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน ได้ถึงแก่กรรมช่วง 30 ปี ภายใต้การนำและการดำเนินการของคุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน ธรรมนิติเป็นที่ยอมรับของลูกความโดยทั่วไปในความซื่อสัตย์ สุจริต และความรอบรู้ในวิชาชีพ ทั้งนี้ก็โดยคุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน ได้ถือและปฏิบัติธรรมในข้อซื่อสัตย์และสุจริต เป็นการวางรากฐานที่มั่นคงให้แก่ธรรมนิติ และด้วยธรรมข้อนี้เองที่ทำให้ธรรมนิติยืนอยู่ได้ในช่วง 30 ปี มิได้ล้มหายดับสูญไปดังที่บางแห่งเป็นไป

 

3. เมื่อคุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน ถึงแก่กรรมแล้ว ต่อมาได้มีพิธีเปิดพินัยกรรมของคุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน โดยนายไพศาล พืชมงคล ทนายความซึ่งอาวุโสสูงสุดของสำนักงานทนายความธรรมนิติในขณะนั้นเป็นผู้ดำเนินการ พินัยกรรมได้กำหนดตัวทายาทผู้รับมรดกของ คุณประดิษฐ์ เปรมโยธินไว้ ยกเว้นแต่กิจการสำนักงานทนายความธรรมนิติ ซึ่งคุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน ได้สั่งเสียไว้ว่า “ให้ดำเนินงานสำนักงานต่อไปภายใต้ชื่อ ธรรมนิติ” ซึ่งมิได้ยกกิจการนี้ให้แก่ผู้ใด และมิได้มอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใด นี่คือการวางเสาเอกให้แก่ธรรมนิติ ในยุคต่อมาบนรากฐานอันมั่นคง ที่คุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน ได้วางไว้

 

 (คุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน)

 

ที่ว่าคำสั่งเสียดังกล่าวเป็นการวางเสาเอกให้แก่ธรรมนิติในยุคต่อมาก็ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
ประการแรก ถ้ายกให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ธรรมนิติก็จะตกอยู่ในสิทธิขาดของคนใดคนหนึ่ง ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดการพัฒนาของธรรมนิตินั่นเอง
ประการหลัง ถ้ามอบหมายให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดดำเนินงานต่อไป ธรรมนิติก็ไม่อาจสืบทอดต่อไปอย่างมั่นคงได้

 

(คุณบุศย์ ขันธวิทย์)

 

จากการที่พินัยกรรมมิได้ยกธรรมนิติให้เป็นสิทธิแก่ผู้ใด และโดยมิได้มอบหมายการดำเนินงานให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเช่นนี้ ได้ประจักษ์ชัดถึงเจตนารมณ์ของคุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน ว่าไม่ต้องการให้ธรรมนิติเป็นสิทธิขาดแก่ผู้หนึ่งผู้ใด แต่ต้องการให้ธรรมนิติดำเนินงานต่อไปโดยไม่ขาดสาย ไม่ดับสูญไปพร้อมกับอายุขัยของใครคนใดคนหนึ่ง
และด้วยความเข้าใจเจตนารมณ์เช่นนี้ คณะผู้ปฏิบัติงานของธรรมนิติในขณะนั้นได้ปรึกษาหารือกันภายใต้การชี้นำของ คุณบุศย์ ขันธวิทย์ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาภาค และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็นบุคคลที่คุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน เคารพนับถืออย่างสูง และเรียกขานท่านโดยสนิทใจว่า “อาจารย์บุศย์” แล้ว เห็นว่าการดำเนินงานต่อไปในรูปของสำนักงานธรรมดาไม่อาจยั่งยืนยาวนานได้หลายชั่วอายุคน ไม่สามารถพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของลูกค้าได้ต่อเนื่องจากอายุคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง อันไม่อาจบรรลุเจตนารมณ์ของคุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน และเห็นว่าการดำเนินงานในรูปของบริษัทจำกัด จะสามารถบรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าวได้

 

(คุณบุศย์ ขันธวิทย์ และคุณไพศาล พืชมงคล)

 

ดังนั้น เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2521 จึงได้จดทะเบียนก่อตั้ง “บริษัท ธรรมนิติ จำกัด” ขึ้นทะเบียนเลขที่ 600/2521 มีทุนจดทะเบียน 400,000 บาท และต่อมาได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,000,000 บาท ได้ย้ายที่ทำการจากเดิมคืออาคารเลขที่ 87/10 ถนนเพชรบุรี เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร มาอยู่ที่อาคารพันธ์ศักดิ์ ชั้น 2 เลขที่ 138/1 ถนนเพชรบุรี เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร

 

(คุณไพศาล พืชมงคล)

 

4. ช่วงที่เป็น “บริษัท ธรรมนิติ จำกัด” ระหว่างปีพุทธศักราช 2521 ถึงปีพุทธศักราช 2525 นั้น ภายใต้โครงสร้างบริษัทจำกัด โดยการบริหารโดยคณะบุคคลอย่างแท้จริง ธรรมนิติได้พัฒนาก้าวหน้าด้วยอัตราที่เร็วมาก ทั้งประเภทบริการ ปริมาณลูกค้า และจำนวนพนักงาน จนประจักษ์ชัดว่าที่ทำการจะ   ไม่สามารถรองรับความเติบโตต่อไปได้ คณะกรรมการบริหารจึงมีมติเมื่อวันที่ 22 มกราคม พุทธศักราช 2523 ให้จัดหาอาคารสำนักงานของธรรมนิติเองและด้วยงบประมาณกว่า 3,000,000 บาท ธรรมนิติจึงได้อาคารสำนักงานของตนเอง เลขที่ 1000/28-30 ถนนพระรามที่ 6 เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร และได้ทำพิธีเปิดอาคารใหม่เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2524 โดยสมเด็จพระ   อริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เสด็จมาเป็นองค์ประธาน

 

(สำนักงานธรรมนิติ เลขที่ 87/10 ถนนเพชรบุรี เขตพญาไท กรุงเทพฯ)

 

ในช่วงระยะ 5 ปีนี้ ธุรกิจของธรรมนิติประเภทใหญ่ๆ มี 3 ประเภท คือ กฎหมายหนึ่ง ทนายความหนึ่ง และบัญชีอีกหนึ่ง ความเติบโตอย่างรวดเร็วของธรรมนิติและด้วยวัตถุประสงค์ที่จะทำให้กิจการด้านบัญชีพัฒนาได้เต็มที่ ธรรมนิติจึงได้แยกกิจการด้านบัญชีออกเป็นองค์กรในเครือ คือ บริษัท ดี.ไอ.เอ จำกัด และ สำนักงานสอบบัญชี ดี.ไอ.เอ จากนั้นพนักงานด้านกิจการบัญชีประมาณ 40 คน ก็ได้สังกัดองค์การใหม่ของธรรมนิติ และอีกประมาณ 80 คน ได้ร่วมกันดำเนินงานของธรรมนิติต่อมา

ในช่วง 5 ปีมานี้ ธรรมนิติได้ประกาศนโยบายโดยเปิดเผย และได้ตราไว้ในข้อบังคับของบริษัทว่าธรรมนิติ มีนโยบาย

• เป็นสถาบันทางกฎหมายธุรกิจที่ใหญ่ที่สุด และมั่นคงที่สุด
• เป็นสถาบันทางกฎหมายธุรกิจ ที่สร้างภาพพจน์ที่ดีงามแก่วิชาชีพ
• ให้บริการที่ซื่อสัตย์ และมีประสิทธิภาพแก่ลูกค้า
• ให้ผลประโยชน์แก่พนักงาน และผู้ถือหุ้นให้มากที่สุด
และเพื่อป้องกันมิให้ธรรมนิติตกเป็นสิทธิขาดแก่ผู้หนึ่งผู้ใด จึงได้กำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัทด้วยว่า ห้ามมิให้คนใดคนหนึ่งถือหุ้นเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนทั้งหมด ซึ่งข้อกำหนดนี้ชาวธรรมนิติทั้งปวงมีหน้าที่ต้องพิทักษ์ไว้มิให้มีการละเมิดโดยเด็ดขาด เพราะนั่นคือการฝืนเจตนารมณ์ของธรรมนิติ

 

 

5. ในช่วง 5 ปีมานี้ ธรรมนิติ ยังถือและปฏิบัติธรรมในข้อซื่อสัตย์สุจริต ตามแนวทางที่คุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน วางไว้ มีแต่ต้องปฏิบัติธรรมข้อนี้ และด้วยประสิทธิภาพเท่านั้น ธรรมนิติจึงจะสามารถยืนอยู่ได้ ความเชื่อถือไว้วางใจอย่างสูงและอย่างกว้างขวางที่ธรรมนิติได้มาใน 5 ปีมานี้ ก็ด้วยธรรมข้อนี้เช่นเดียวกับช่วง 30 ปีก่อนหน้านี้

 

6. ในช่วง 5 ปีมานี้ ธรรมนิติได้เอาชนะปัญหาและอุปสรรคมากมาย
ด้านธุรกิจ ไม่เป็นปัญหาและไม่เป็นอุปสรรคของธรรมนิติ เพราะธงแห่งความซื่อสัตย์ สุจริต และมีประสิทธิภาพที่สูงเด่น ได้แก้ปัญหาและเบิกหนทางอันกว้างใหญ่ให้ธุรกิจขยายตัวไปได้อยู่ในตัวแล้ว
ด้านองค์กร ธรรมนิติได้แก้ไข ปรับปรุง โครงสร้างองค์กร และระบบงานอยู่ตลอดมา เพื่อให้เกิดความคล่องตัว รัดกุม และมีประสิทธิภาพ งานด้านนี้เป็นงานใหม่และงานใหญ่เพราะไม่เคยมีปรากฏตัวอย่างมาก่อนในประเทศไทย ตัวอย่างของต่างประเทศก็ไม่สอดคล้องกับสภาพที่เป็นอยู่ในประเทศไทย และไม่สอดคล้องกับสภาพของธรรมนิติ ซึ่งยังเป็นองค์กรที่เยาว์วัย ธรรมนิติต้องค้นคว้ารูปลักษณะโครงสร้าง และระบบงานเอง โดยถือผลการปฏิบัติเป็นมาตรวัดความผิดถูก ข้อใดถูกต้องก็ได้รับการพัฒนาต่อไปอย่างรวดเร็ว ข้อใดผิดพลาดก็ได้รับการทบทวน และแก้ไขอย่างรวดเร็วดุจกัน ท่ามกลางการเสริมสร้างข้อที่ถูกต้อง และแก้ไขข้อที่ผิดพลาดอย่างรวดเร็วครั้งแล้วครั้งเล่าเช่นนี้ โครงสร้างขององค์กรและระบบงานของธรรมนิติจึงได้รับการพัฒนา จนถึงปีพุทธศักราช 2525 ก็สามารถกล่าวได้ว่าโครงสร้างและระบบงานของธรรมนิติได้ปรากฏรูปลักษณะที่ถูกต้องเหมาะสมโดยพื้นฐานแล้ว แต่ธรรมนิติจะไม่หยุดอยู่เพียงนี้ หากจะยังก้าวต่อไป โครงสร้างและระบบงานยังจะต้องได้รับการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งสู่จุดหมายปลายทางคือ ความใหญ่ที่สุด มั่นคงที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุด อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ตลอดจนเทคนิคใหม่ที่ทันสมัย จะต้องถูกนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกันเป็นขั้นๆ โดยต้องไม่ทำให้วิญญาณที่เป็นธรรมนิติแปรเปลี่ยนไป
ด้านบุคคล ทรัพย์สินทั้งหลายบรรดามี ธรรมนิติถือเอาบุคคลว่ามีค่าสูงสุด การงานทั้งปวงของธรรมนิติที่ล่วงมา ที่เป็นอยู่ และที่จะเป็นไปเบื้องหน้า ล้วนต้องกระทำโดยคน และโดยนัยนี้ ธรรมนิติก็คือ คนของธรรมนิตินั่นเอง ใน 5 ปีมานี้ บทเรียนเรื่องคน คือบทเรียนที่มีค่าสูงสุด     บทหนึ่ง และด้วยบทเรียนที่มีค่ายิ่งบทนี้ ธรรมนิติไม่ควรที่จะทำความผิดพลาดในเรื่องคนอีกต่อไป บทเรียนของธรรมนิติในเรื่องนี้คือ “คนมีใจ” ธรรมนิติจะต้องปกครองคนโดยธรรม เมตตา กรุณา สัจจะ และสติปัญญา จะต้องคัดเลือกและสร้างสรรค์ให้คนมีธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต มีความเพียร มีสติปัญญาและหิริโอตตัปปะ

 

7. การเกิดขึ้น การดำรงอยู่ และการพัฒนาไปของธรรมนิติในรูปของบริษัทจำกัด ได้ส่งผลสะเทือนที่ยิ่งใหญ่ต่อวงการกฎหมายของประเทศไทย ใน 5 ปีมานี้ได้มีการก่อตั้งบริษัทกฎหมายธุรกิจทำนองเดียวกับธรรมนิติมากมาย บ้างก็ล้มเลิกไปแล้ว บ้างก็กำลังจะล้มเลิก บ้างก็กำลังดำเนินการอยู่ และโดยนัยนี้รูปองค์กร “บริษัทจำกัด” นั้น โดยตัวเองแล้ว ไม่ใช่หลักประกันถึงการดำรงอยู่อย่างมั่นคงยาวนานแต่อย่างใด หากต้องอาศัย “วิญญาณ” จึงจะมีชีวิตอยู่ได้ ใครก็ตามที่ไม่เข้าใจความข้อนี้ก็ไม่สามารถเข้าใจธรรมนิติได้

 

8. นโยบาย 4 ประการของธรรมนิตินั้น ยิ่งใหญ่ ถูกต้อง มีเกียรติ และมีผลเชิงประวัติศาสตร์ ธรรมนิติผ่านช่วงเวลา 36 ปีแล้ว ซึ่งสั้นมาก หากจะเทียบกับเวลาในภายหน้า แต่เวลาในภายหน้าแม้มากมายเพียงใดก็ไม่อาจบ่งชี้ได้ว่าธรรมนิติจะบรรลุนโยบายของตนเมื่อใด หนทางข้างหน้านั้นยาวไกล วิถีดำเนินแห่งธรรมนิติในการไปถึงจุดหมายปลายทางและบรรลุนโยบายจึงจำต้องมีวิถีที่แน่นอน

 

“วิธิแห่งธรรมนิติ”

1. เอกภาพ

การบรรลุนโยบายของธรรมนิติได้นั้น ธรรมนิติต้องมีความเป็นเอกภาพ คือ เอกภาพทางความคิด ทางความรับรู้และทางปฏิบัติ ความเป็นเอกภาพของคนของธรรมนิติ แม้เดินกันคนละทิศคนละทาง หรือเดินกันคนละทีแล้ว ภารกิจก็ไม่อาจไปถึงเป้าหมายได้ ความเป็นเอกภาพเกิดขึ้นได้ก็แต่โดยความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คนจำนวนมากจะสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ จะต้องประกอบด้วย

1.1 คณะผู้บริหารของธรรมนิติ จะต้องมีความสามารถชี้นำงานทั้งปวงโดยถูกต้อง จะต้องเป็นแกนแห่งความสามัคคี อุปมาดั่งดวงอาทิตย์เป็นแกนแห่งจักรวาลฉันนั้น นั่นคือ นอกจากจะต้องมีความรู้และสติปัญญาสูง มีความคิดอ่านที่กว้างไกลลึกซึ้งแล้ว จะต้องมีเมตตากรุณา มีสัจจะ รู้อภัย รู้การอบรมบ่มเพาะ ยกระดับสติปัญญาของคนได้เป็นปกติ

1.2 พนักงานทั้งปวงของธรรมนิติ จะต้องมีความสามารถทำงานทั้งปวงโดยถูกต้องก้าวทันการบริหาร มีจิตใจที่ศรัทธาต่อธรรมนิติ มีความซื่อสัตย์ต่อกันและกัน ช่วยเหลือเกื้อกูล ร่วมทุกข์ร่วมสุข เปิดเผยและตรงไปตรงมาต่อกัน มีสติปัญญา และหิริโอตตัปปะเป็นปกติ

ธรรมนิติเป็นเอกภาพเช่นนี้ จะมีพลังอันมหาศาลและยิ่งใหญ่ที่สุด

เท่าที่มนุษย์จะพึงมีก็ด้วยพลังอันนี้ ภารกิจของธรรมนิติก็จะลุล่วงไป

 

2. มั่นคง

ด้วยคนนั้นมีใจ และธรรมชาติของใจคนต้องการความมั่นคง และโดยที่ธรรมนิติก็คือคนของธรรมนิติ ดังนั้นธรรมนิติจะมั่นคงก็แต่โดยคนของธรรมนิติมีความรู้สึกมั่นคง และคนของธรรมนิติจะมั่นคงได้ก็แต่โดยธรรมนิติมั่นคง
ความมั่นคงนั้น คือ ความมั่นคงในชีวิต ในทรัพย์สิน ในครอบครัว ในหน้าที่การงานและในทางจิตใจ ความมั่นคงบางชนิดเป็นเรื่องของรัฐต้องจัดการและที่เป็นหน้าที่สำคัญของธรรมนิติก็คือ ความมั่นคงในหน้าที่การงาน และในทางจิตใจ อันเป็นความประสงค์ร่วมกันคือ ธรรมนิติก็ประสงค์ความมั่นคง คนก็ประสงค์ความมั่นคง และโดยเนื้อแท้ก็คือ ความมั่นคงของคน ซึ่งจะต้องทำการร่วมกันโดยอาศัยวิถีเอกภาพแห่งธรรมนิติ คือ

2.1 ธรรมนิติจะเลี้ยงคนตลอดอายุการทำงาน

2.2 แม้เมื่อเกษียณอายุแล้ว ธรรมนิติต้องอุปการะตอบแทนคุณงามความดีของคนไปจนตลอดชีวิต ตามกำลังความสามารถและอย่างเต็มที่

2.3 แม้ยามธุรกิจตกต่ำคับขัน ขาดทุน จะใช้มาตรการแก้ปัญหาโดยทางธุรกิจเป็นขั้นแรก หากจำเป็นก็ลดรายได้ผู้บริหารลงมา หากจำเป็นต่อไปอีกจึงจะลดรายได้พนักงาน หากจำเป็นต่อไปอีก ก็สลับวันทำงานกัน

2.4 ใช้มาตรการแก้ไขปัญหาจนสุดความสามารถ และสุดปัญญาจากนี้แล้วจึงใช้มาตรการตัดปัญหา

2.5 คนใกล้หรือคนไกลหากทำคุณงามความดี ความดีนั้นต้องปรากฏได้และต้องบำเหน็จเสมอกัน หากทำผิดก็ต้องลงโทษเสมอกัน ไม่ลำเอียงเข้าข้างคนผิด

2.6 ถือว่าคนของธรรมนิติ คือผู้ร่วมงานของธรรมนิติ คือเลือดเนื้อของธรรมนิติ ไม่ถือเป็นแค่ลูกจ้างธรรมดา

2.7 การเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง เป็นไปตามความสามารถ ไม่ผูกขาดไว้เฉพาะแต่พรรคพวก ญาติ มิตร ใครก็ตามที่เป็นธรรมนิติ และมีความสามารถบริหารต้องได้รับเลือกเป็นผู้บริหาร

2.8 แม้กระทำผิดโดยฉกรรจ์ ก็ให้โอกาสแก้ไขกลับตัว

2.9 เอาใจใส่สารทุกข์สุกดิบ ร่วมทุกข์ร่วมสุขฉันพี่น้อง

ด้วยวิถีความมั่นคงแห่งธรรมนิติเช่นนี้ ธรรมนิติก็จะมีชีวิตที่เป็นอมตะ

คนก็จะฝากชีวิต ทุ่มจิตใจและวิญญาณแก่ธรรมนิติได้

 

3. มั่งคั่ง

อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และมั่นคงนั้น หากมีประชากรที่ยากไร้แล้ว อาณาจักรนั้นก็จะไม่ต่างกับเมืองนรก ผู้บริหารองค์กรธุรกิจจำนวนมากที่ใฝ่ฝัน และพูดถึงความมั่งคั่งของธุรกิจ ของตน แต่ปฏิเสธการกล่าวถึงความมั่งคั่งของประชากรของตน นี่คือ ทรรศนะที่ขัดต่อวิถีความมั่นคงแห่งธรรมนิติ เพราะมีรากฐานความคิดที่ว่าคนของตนเป็นแต่เพียงลูกจ้างไม่ใช่ผู้ร่วมงาน เขาปรารถนาแต่จะมาเสพสุขจากผลอันเกิดจากการเรียกร้องให้คนทุ่มเทชีวิตและวิญญาณให้แต่ปฏิเสธการตอบแทนความมั่งคั่งให้แก่คนของเขา การปฏิเสธเช่นนี้ขัดต่อวิถีความมั่นคงแห่งธรรมนิติ เพราะความมั่นคงจะเกิดขึ้นไม่ได้โดยเด็ดขาด ธรรมนิติถือว่าความมั่งคั่งเป็นความจำเป็นของปุถุชน มีแต่คนวิกลจริต และคนที่หลอกลวงโลกหลอกลวงมนุษย์เท่านั้นที่จะปฏิเสธความมั่งคั่งเสียได้ นี่คือความจริงของปุถุชน ธรรมนิติจึงกล้าพูดความจริงเช่นนี้ และส่งเสริมให้คนพูดถึงสิ่งนี้ ทั้งยังยินดีสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น
ธรรมนิติมีวิถีเอกภาพและมั่นคง ดังนั้น ความมั่งคั่งของธรรมนิติ ก็คือความมั่งคั่งของคนของธรรมนิติ ความมั่งคั่งของธรรมนิติจะกลายเป็นการกดขี่ขูดรีดและเอาเปรียบหากว่าธรรมนิติไม่สร้างความมั่งคั่งให้แก่คนของธรรมนิติและด้วยเหตุนี้คนของธรรมนิติจะมั่งคั่งได้ก็โดยสร้างความมั่งคั่งให้แก่ธรรมนิติ
ความมั่งคั่ง ไม่อาจเกิดได้ในพริบตา เว้นเสียแต่จะถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ซ้อนๆ กันหลายๆ ครั้ง หรือโดยหลอกลวงผู้อื่น หรือกระทำผิดกฎหมายในบางเรื่อง ซึ่งไม่ใช่วิถีแห่งธรรมนิติ ความมั่งคั่ง เกิดขึ้นได้เป็นขั้นเป็นตอนและอาศัยเวลาและโอกาส ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าความมั่งคั่งมีลักษณะเป็นขั้นบันได ธรรมนิติยืนอยู่ ณ บันไดขั้นใด คนของธรรมนิติจักต้องยืนอยู่ ณ บันไดขั้นนั้นด้วย

นี่คือวิถีแห่งความมั่งคั่งของวิถีแห่งธรรมนิติ

 

4. สร้างสรรค์

สรรพสิ่งย่อมพัฒนาตามกฎของธรรมชาติ สิ่งใดไม่พัฒนาก็ไม่ต่างกับซากศพ โลกทุกวันนี้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทิ้งคนและสัตว์ที่ล้าหลังจำนวนมากไว้ข้างหลัง ความศิวิไลซ์ทั้งหลาย การพัฒนาทั้งหลายอาศัยคนและต้องเป็นคนสร้างสรรค์ หากไม่สร้างสรรค์อะไรแล้ว คุณค่าของชีวิตก็ไม่ต่างกับสัตว์บางชนิด “ชีวิตที่สูญเปล่า” คือคำที่เหมาะสมกับคนที่ไม่สร้างสรรค์
คนของธรรมนิติ จึงควรเป็นคนสร้างสรรค์ ธรรมนิติได้สร้างสรรค์ความก้าวหน้าแล้วทั้งในอดีตและปัจจุบัน การบรรลุนโยบายของธรรมนิติก็คือ การสร้างสรรค์ หากไม่สร้างสรรค์แล้ว ธรรมนิติจะใหญ่ที่สุด มั่นคงที่สุด สร้างภาพพจน์ที่ดีงามแก่วิชาชีพ ให้บริการที่ซื่อสัตย์ มีประสิทธิภาพและจะให้ประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องได้อย่างไร
การสร้างสรรค์ต้องถือสัมฤทธิ์คติ คือ คติที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ คนเรานั้นหากใจมุ่งมั่นเอาความสำเร็จให้ได้แล้ว ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้น แต่ก็มีคนไม่น้อยที่ถือคติตรงกันข้าม    การใด ก็ต้องขึ้นด้วย “ปัญหามีว่า..” ผู้ถือคตินี้ไม่อาจสร้างความสำเร็จที่มีคุณค่าใดๆ ได้จะสร้างได้สำเร็จก็เฉพาะแต่ปัญหาเท่านั้น ดังนั้น คนที่สร้างสรรค์ต้องมีความมุ่งมั่นอันแรงกล้า ประกอบด้วยความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคและความล้มเหลวชั่วคราว ทั้งยังต้องมองการณ์ไกลไปเบื้องหน้า ทันโลก ทันสถานการณ์ สามารถหยั่งรู้และกำหนดการอันควรทำและต้องทำในวันหน้าได้

วิถีสร้างสรรค์ของวิถีแห่งธรรมนิติจึงทำให้ธรรมนิติก้าวไปข้างหน้า ไม่หยุดนิ่งหรือ ถอยหลัง

 

วิถีแห่งธรรมนิติ เป็นวิถีที่ชาวธรรมนิติต้องเดินไปสู่จุดหมายปลายทาง คือ การบรรลุนโยบายของธรรมนิติ 30 ปีข้างหน้า คือ 30 ปีแห่งวิถีแห่งธรรมนิติ และเมื่อวันนั้นมาถึง ธรรมนิติจะมีอายุ 66 ปี เป็นหน้าที่ของชาวธรรมนิติในยุคนั้นที่จะต้องทบทวนประเมินผลนโยบายของธรรมนิติ และวิถีแห่งธรรมนิติว่ามีความถูกต้องเพียงใด ปฏิบัติได้ผลเพียงใด ผลสำเร็จของการปฏิบัติจะเป็นมาตรวัดที่เที่ยงแท้แต่มาตรเดียวที่ธรรมนิติยึดถือปฏิบัติ ความผิดพลาดและล้มเหลวจะต้องได้รับการ “แก้ไข” ไม่ใช่โดยการ “แก้ตัว” นโยบายใด วิถีใดไม่ถูกต้อง ปฏิบัติไม่ได้และไม่เกิดผล จักต้องได้รับการแก้ไขโดยรวดเร็ว ทันการณ์ โดยชาวธรรมนิติในยุคต่อๆ ไป

ณ วันที่ 29 มกราคม 2530

 

1. “วิถีแห่งธรรมนิติ” เป็นบทความแสดงหลักปรัชญาและแนวคิดของธรรมนิติประกอบด้วยเนื้อหา 3 ตอน คือ ตอนแรก เป็นประวัติความเป็นมาของธรรมนิติ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นรูปสำนักงานในปี พ.ศ. 2490 ถึงปี พ.ศ. 2521 รวม 30 ปี ตอนที่สอง เป็นประวัติของธรรมนิตินับแต่ช่วงแปรรูปจากสำนักงานทนายความ เป็นรูปบริษัทจำกัด ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 ถึงปี พ.ศ. 2526 รวม 6 ปี ตอนที่สาม เป็นแนวความคิดเดี่ยวกับวิถีดำเนินของธรรมนิติในการไปถึงจุดหมายปลายทางและบรรลุนโยบายซึ่งเป็นแนวคิดเชิงปรัชญา บทความนี้นายไพศาล พืชมงคล เป็นผู้ยกร่าง และคณะกรรมการบริหารชุดที่ 5 ได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม แล้วมีมติอนุมัติ และให้จัดพิมพ์ในรายงานของบริษัทเนื่องในโอกาสที่ธรรมนิติมีอายุครบ 36 ปี ในปี พ.ศ. 2526

 

2. ตั้งแต่ออกบทความดังกล่าวแล้ว ถึงปี 2530 มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับประวัติของธรรมนิติอันควรแก่การบันทึกเพิ่มเติมคือ เมื่อปลายปี 2526 บริษัท ดี.ไอ.เอ. จำกัด และสำนักงานสอบบัญชี ดี.ไอ.เอ ได้แยกตัวและย้ายออกไปดำเนินธุรกิจต่างหาก คณะกรรมการบริหารชุดที่ 5 จึงมีมติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2527 ให้จัดตั้ง บริษัท ธรรมนิติการบัญชี จำกัด เพื่อให้บริการด้านจัดทำบัญชี และให้จัดตั้ง บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด เพื่อให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี โดยมีทุนจดทะเบียนบริษัทละ 500,000 บาท
ธรรมนิติได้แก้ไขจุดอ่อนทางการบริหารที่เป็นสาเหตุเกิด “กรณี ดี.ไอ.เอ” ในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจบัญชีมาโดยตลอด เป็นผลให้ธุรกิจด้านบัญชีเติบใหญ่ขึ้นตามลำดับ การบริหารมีลักษณะที่มั่นคงขึ้น
ต่อมา วันที่ 15 พฤศจิกายน 2529 คณะกรรมการบริหารชุดที่ 8 มีมติให้รวมธุรกิจประเภทเดียวกันไว้ที่บริษัทเดียวกันคือ ให้โอนฝ่ายจดทะเบียนและขออนุญาตและฝ่ายภาษีอากร จากบริษัท ธรรมนิติ จำกัด ไปสังกัดบริษัท ธรรมนิติการบัญชี จำกัด และเพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจ จึงเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “บริษัท ธรรมนิติการบัญชีและภาษีอากร จำกัด” ทำให้งานด้านธุรกิจและบัญชียกเว้นงานตรวจสอบบัญชีรวมอยู่ที่บริษัทเดียวกัน และคงงานกฎหมายและคดีไว้ที่บริษัท ธรรมนิติ จำกัด ดังเดิม
คณะกรรมการบริหารชุดที่ 8 ได้ทบทวนมติสภากรรมการปี 2526 ที่เกี่ยวกับงานบังคับคดีว่าสมควรแยกไปดำเนินการในรูปของอีกบริษัทหนึ่ง และมีมติเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2529 ให้จัดตั้งบริษัท ดีเคลมส์ จำกัด ขึ้น มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท เพื่อให้รับผิดชอบงานบังคับคดีต่อไป

 

ณ วันที่ 6 กันยายน 2531

 

3. ปี 2530 บริษัทได้ลงทุนถือหุ้นในบริษัท ดีไลท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสำนักพิมพ์และการค้าเครื่องเขียน แบบพิมพ์ และเครื่องใช้สำนักงาน อันเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท ทำให้วงจรธุรกิจขยายวงกว้างออกไป ครั้นถึงกลางปี 2531 บริษัท จึงได้ยกเลิกงานพัสดุกลางและมอบหมายให้บริษัท ดีไลท์ จำกัด ทำหน้าที่เป็นหน่วยพัสดุกลางแทน ทำให้งานพัสดุมีระบบงานที่กระชับ รัดกุม สามารถควบคุมได้ง่ายขึ้น ทั้งมีต้นทุนพัสดุถูกลงด้วย
4. กลางปี 2531 สภากรรมการมีมติให้จัดหาอาคารสำนักงานเพิ่มอีก 4 คูหา ในราคาประมาณ 4,000,000 บาท และใช้งบตกแต่งประมาณ 1,500,000 บาท ดังนั้น เพื่อความคล่องตัวในการบริหารที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นวิสามัญครั้งที่ 1-2/2531 จึงมีมติให้เพิ่มทุนของบริษัทอีก 7,000,000 บาท รวมเป็น 10,000,000 บาท และปรับปรุงข้อบังคับใหม่โดยยกเลิกข้อบังคับเดิมและใช้ข้อบังคับที่ตราขึ้นใหม่

 

ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2532

 

5. ปลายปี 2531 คณะกรรมการบริหารชุดที่ 10 มีมติให้โอนงานบังคับคดี จากบริษัท ดีเคลมส์ จำกัด ไปสังกัดบริษัท ธรรมนิติ จำกัด ตามเดิม และให้เปลี่ยนชื่อบริษัท ดีเคลมส์ จำกัด เป็นบริษัท สำนักพิมพ์ธรรมนิติ จำกัด ประกอบกิจการเกี่ยวกับงานพิมพ์ทุกชนิด ซึ่งเป็นประเภทบริการที่สนับสนุนและส่งเสริมกิจการอื่นๆ ของธรรมนิติ ทั้งยังสามารถดำเนินธุรกิจของตนเองโดยลำพังได้ด้วย
6. วันที่ 13 มิถุนายน 2532 ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นมีมติให้กำหนดมูลค่าหุ้นของบริษัท หุ้นละ 10 บาท และเพิ่มทุนอีก 10,000,000 บาท รวมเป็น 20,000,000 บาท แบ่งเป็น 2,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท
7. วันที่ 14 มิถุนายน 2532 คณะกรรมการบริหาร ชุดที่ 11 มีมติให้ประกาศแนวทางนโยบายเกี่ยวกับบุคลากร และยกเลิกระเบียบการพนักงานเดิม (พ.ศ. 2521) และให้ใช้ระเบียบการพนักงานใหม่ (พ.ศ. 2532) แทน

 

ณ วันที่ 12 กันยายน 2534

 

8. วันที่ 8 พฤษภาคม 2532 สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 51 ให้ซื้อกิจการบริษัท พานิชการสากล จำกัด ซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนพาณิชย์และปรับปรุงอาคารเรียนเป็นอาคารสำนักงาน มีพื้นที่ทำการประมาณ 1,500 ตารางเมตร การปรับปรุงแล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2532 เรียกว่า “อาคารสำนักงานบางโพ” และได้ย้ายบริษัท ธรรมนิติการบัญชีและภาษีอากร จำกัด, บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด, บริษัท สำนักพิมพ์ธรรมนิติ จำกัด และบริษัท ดีไลท์ จำกัด จากสำนักงานใหญ่ และสำนักงานพระรามหก ไปอยู่ที่สำนักงานบางโพในเดือนธันวาคม 2532

 

9. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2532 นายไพบูลย์ จิระสุนทร กรรมการสภากรรมการถึงแก่มรณกรรม
10. วันที่ 7 มีนาคม 2533 สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 55 ให้จัดตั้งบริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท รับภาระหน้าที่ให้บริการเกี่ยวกับกฎหมายและคดี มีที่ตั้ง ณ สำนักงานใหญ่ และสำนักงานพระรามหก และกำหนดให้บริษัท ธรรมนิติ จำกัด ดำเนินธุรกิจการลงทุน และถือครองทรัพย์สินเป็นหลัก
11. วันที่ 27 กรกฎาคม 2533 สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 57 ให้เพิ่มทุนบริษัทในกลุ่ม ดังนี้
• บริษัท ธรรมนิติการบัญชีและภาษีอากร จำกัด เพิ่มทุนเป็น 8,000,000 บาท
• บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด เพิ่มทุนเป็น 5,000,000 บาท
• บริษัท สำนักพิมพ์ธรรมนิติ จำกัด เพิ่มทุนเป็น 4,000,000 บาท
• บริษัท ดีไลท์ จำกัด เพิ่มทุนเป็น 10,000,000 บาท
• บริษัท พานิชการสากล จำกัด เพิ่มทุนเป็น 4,000,000 บาท
12. ปี พ.ศ. 2533 มีข่าวว่าสำนักงานพระรามหกอาจถูกเวนคืน คณะกรรมการบริหาร ชุดที่ 12 มีมติในการประชุมครั้งที่ 191 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2533 ให้ซื้ออาคารสำนักงานเตาปูนซึ่งใกล้กับสำนักงานบางโพ
13. วันที่ 19 เมษายน 2534 ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น มีมติให้เพิ่มทุนบริษัท ธรรมนิติ จำกัด จาก 20,000,000 บาท เป็น 40,000,000 บาท

 

ณ วันที่ 25 มกราคม 2536

 

14. ในปี 2535 ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น มีมติพิเศษในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2535 และสมัยวิสามัญครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2535 ให้ควบบริษัท ธรรมนิติ จำกัด กับบริษัท พานิชการสากล จำกัด
15. สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 63 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2535 ให้เรียกทุนเพิ่มเป็น 36,000,000 บาท จากที่จดทะเบียนไว้ 40,000,000 บาท โดยการออกหุ้นใหม่มูลค่าหุ้นละ 10 บาท และจัดจำหน่ายในราคาหุ้นละ 14 บาท ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วจึงมีจำนวน 36,000,000 บาท และที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นมีมติพิเศษในการประชุมสมัยวิสามัญครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2535 และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2535 ให้แก้ไขทุนจดทะเบียนจาก 40,000,000 บาท เป็น 36,000,000 บาท เพื่อเตรียมควบกิจการกับบริษัท พานิชการสากล จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 4,000,000 บาท
16. เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2535 คณะกรรมการบริหารชุดที่ 14 มีมติให้ปฏิรูปองค์กรและการบริหารของธรรมนิติให้สอดคล้องกับการขยายงานที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีหลักการให้บริษัทในเครือทุกบริษัทบริหารงานโดยอิสระ ภายใต้การรวมศูนย์ทางแนวทาง นโยบาย รวมทั้งระบบการจัดสรรประโยชน์ที่สอดคล้องกับการกระจายอำนาจการบริหารดังกล่าวด้วย นับเป็นการปฏิรูปครั้งที่ 3 ในรอบ 45 ปี คือ ครั้งที่ 1 ในปี 2521 เป็นการปฏิรูปการบริหารจากรูปสำนักงานเป็นรูปบริษัทจำกัด ครั้งที่ 2 ในปี 2526 เป็นการปฏิรูปการบริหาร ให้เป็นแบบประชาธิปไตยและการนำรวมหมู่ และครั้งที่ 3 ในปี 2535 ให้เป็นแบบกระจายอำนาจให้บริษัทในเครือดำเนินงานโดยอิสระภายใต้แนวทางนโยบายที่เป็นเอกภาพ
17. เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2535 ศาสตราจารย์กำธร พันธุลาภ ประธานกรรมการบริหาร ถึงแก่มรณกรรม
(ศาสตราจารย์กำธร พันธุลาภ)

 

18. เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2535 คณะกรรมการจัดการมีมติให้บริษัทลงทุนถือหุ้นในบริษัท ตงซิม คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในอัตราร้อยละ 30 ของทุนจดทะเบียนเป็นเงิน 300,000 บาท
19. เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2536 ที่ประชุมร่วมผู้ถือหุ้นของบริษัท ธรรมนิติ จำกัด และบริษัท พานิชการสากล จำกัด มีมติให้ควบบริษัททั้งสองบริษัทเข้ากันเป็นบริษัท ธรรมนิติกรุ๊ป จำกัด มีทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว 40,000,000 บาท แบ่งเป็น 4,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2536 และให้ย้ายสำนักงานใหญ่มาตั้งที่สำนักงานบางโพ อาคารเลขที่ 267/1 ถนนประชาราษฎร์ สาย 1 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร

 

ณ วันที่ 30 กันยายน 2537

 

20. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2535 สภากรรมการมีมติให้จัดตั้งบริษัท ประชาราษฎร์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท เพื่อรองรับกับการขยายธุรกิจของบริษัท
21. เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2536 สภากรรมการมีมติให้จัดซื้อที่ดินและอาคาร เลขที่ 22/27-30 ถนนประชาราษฎร์ 1 ซอย 4 รวม 4 คูหา เป็นเงินลงทุนรวม 10,450,000 บาท และปรับปรุงเป็นอาคารสำนักงาน ตั้งชื่อว่า “สำนักงานประชาราษฎร์” และเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2536 สภากรรมการมีมติให้ย้ายบริษัท ธรรมนิติการบัญชีและภาษีอากร จำกัด และบริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด ไปอยู่ที่สำนักงานประชาราษฎร์
22. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2536 สภากรรมการมีมติให้จัดซื้อที่ดินและอาคาร เลขที่ 22/31-40 ถนนประชาราษฎร์ 1 ซอย 4 รวม 10 คูหา เป็นเงินลงทุน 18,000,000 บาท และปรับปรุงเป็นอาคารสำนักงาน ตั้งชื่อว่า “สำนักงานเกียกกาย” และเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2537 สภากรรมการมีมติให้ย้ายบริษัท สำนักพิมพ์ธรรมนิติ จำกัด และบริษัท ฝึกอบรมและสัมมนาธรรมนิติ จำกัด ไปอยู่ที่สำนักงานเกียกกาย
23. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2536 สภากรรมการมีมติให้ขายอาคาร สำนักงานบางซื่อ เลขที่ 1296/22-23 รวม 2 คูหา ในราคา 10,000,000 บาท ทั้งนี้ เพราะหมดความจำเป็นในการใช้สอยเนื่องจากกำหนดให้บริษัท สำนักพิมพ์ธรรมนิติ จำกัด ย้ายไปอยู่ที่สำนักงานเกียกกาย
24. เมื่อวันที่ เดือนมีนาคม 2537 สภากรรมการมีมติให้ย้ายบริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด บริษัท ธรรมนิติอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ธรรมนิติคอมพิวเตอร์ซิสเต็มส์ จำกัด จากสำนักงานพระรามหก (1) และ (2) ไปอยู่ที่อาคารนายเลิศทาวเวอร์ ชั้น 4-5 ถนนวิทยุ กรุงเทพมหานคร เนื่องจากสำนักงานเดิมมีสภาพที่ตกต่ำลงเนื่องจากการก่อสร้างข้างเคียง และการเวนคืนสถานที่ข้างเคียงเพื่อการก่อสร้างทางด่วน โดยเช่าที่ทำการใหม่จากบริษัท นายเลิศ จำกัด และมีมติให้เช่า หรือเซ้งอาคารสำนักงานพระรามหก (1) (2) ต่อไป บริษัททั้ง 3 บริษัท ดังกล่าวให้ย้ายที่ทำการไปยัง อาคารนายเลิศทาวเวอร์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2537
25. สภากรรมการมีมติให้เพิ่มทุนบริษัทในเครือ ดังนี้
• เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2536 ให้เพิ่มทุนบริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด จาก 2,000,000 บาท เป็น 4,000,000 บาท
• เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2537 ให้เพิ่มทุนบริษัท ฝึกอบรมและสัมมนาธรรมนิติ จำกัด จาก 2,000,000 บาท เป็น 4,000,000 บาท
• เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2536 ให้เพิ่มทุนบริษัท ดีไลท์ จำกัด จาก 10,000,000 บาท เป็น 13,000,000 บาท
• เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2537 ให้เพิ่มทุนบริษัท สำนักพิมพ์ธรรมนิติ จำกัด จาก 4,000,000 บาท เป็น 5,000,000 บาท
• เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2537 ให้เพิ่มทุนบริษัท ประชาราษฎร์ จำกัด จาก 1,000,000 บาท เป็น 3,000,000 บาท
26. เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2536 นายธานินทร์ จิระสุนทร กรรมการประจำสำนักกรรมการจัดการคนที่ 3 ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง สภากรรมการ มีมติเลื่อนนายพิชัย พืชมงคล เป็นกรรมการประจำสำนักกรรมการจัดการคนที่ 3 แทน และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2536  สภากรรมการมีมติแต่งตั้งนายวิสูตร กาญจนปัญญาพงศ์ กรรมการจัดการสำรองเป็นกรรมการประจำสำนักกรรมการจัดการคนที่ 4
27. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2537 ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นมีมติพิเศษให้เพิ่มทุนของบริษัทอีก 20,000,000 บาท โดยการออกหุ้นใหม่จำนวน 2,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท และให้จัดจำหน่ายครั้งแรกจำนวน 1,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 16 บาท โดยจัดสรรแก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วนหุ้นเดิม 4 หุ้น ซื้อหุ้นใหม่ได้ 1 หุ้น
28. เนื่องจากนายบุศย์ ขันธวิทย์ ประธานกรรมการมีอายุครบ 89 ปี ที่ประชุมใหญ่  ผู้ถือหุ้นสมัยสามัญครั้งที่ 17 จึงมีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2537 ให้แต่งตั้งนายบุศย์ ขันธวิทย์ เป็นประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ และแต่งตั้งนายวิสูตร กาญจนปัญญาพงศ์ เป็นกรรมการแห่งสภากรรมการ
29. เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2537 คณะกรรมการจัดการมีมติให้จัดกลุ่มธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
กลุ่มถนนวิทยุ ประกอบด้วยบริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด บริษัท ธรรมนิติอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ธรรมนิติคอมพิวเตอร์ซิสเต็มส์ จำกัด มีกรรมการประจำสำนักกรรมการจัดการคนที่ 3 และ 4 เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในทางนโยบาย
กลุ่มประชาราษฎร์ ประกอบด้วยบริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด และบริษัท ธรรมนิติการบัญชีและภาษีอากร จำกัด มีกรรมการประจำสำนักกรรมการจัดการคนที่ 2 และกรรมการจัดการสำรอง (นายอนุรักษ์ แช่มปรีชา) เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในทางนโยบาย
กลุ่มเกียกกาย ประกอบด้วยบริษัท สำนักพิมพ์ธรรมนิติ จำกัด และบริษัท ฝึกอบรมและสัมมนาธรรมนิติ จำกัด มีกรรมการประจำสำนักกรรมการจัดการคนที่ 1 เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในทางนโยบาย
กลุ่มบางโพ ประกอบด้วยบริษัท ดีไลท์ จำกัด และบริษัท ประชาราษฎร์ จำกัด มีกรรมการประจำสำนักกรรมการจัดการคนที่ 1 และกรรมการจัดการสำรอง (นายพรณรงค์ พืชมงคล) เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในทางนโยบาย
30. เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2537 สภากรรมการมีมติให้แต่งตั้งศาสตราจารย์ปรีชา พานิชวงศ์ อดีตรองประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ และแต่งตั้งพลเอกศิรินทร์ ธูปกล่ำ อดีตผู้บัญชาสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เป็นรองประธานกรรมการ
31. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2537 พลตำรวจเอกสุรพล จุลละพราหมณ์ ได้ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการเนื่องจากขายหุ้นให้แก่บุคคลอื่น สภากรรมการมีมติอนุมัติ และมีมติเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2537 แต่งตั้งนายมนตรี นาวิกผล เป็นกรรมการแทน
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2537 ท่านบุศย์ ขันธวิทย์ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาภาค อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตประธานสภากรรมการคนแรกของธรรมนิติ และประธานสภากรรมการกิตติมศักดิ์ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอายุ 90 ปี และสภากรรมการอนุมัติให้บริษัทจัดพิมพ์และออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ

 

ณ วันที่ 25 มกราคม 2538

 

32. คณะกรรมการจัดการมีมติในการประชุมครั้งที่ 232 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2538 เห็นชอบให้จัดตั้งระบบ E-Mail ขึ้น เพื่อเป็นข่ายงานติดต่อระหว่าง 4 สำนักงาน ในเครือธรรมนิติ จึงเป็นการนำระบบ E-Mail มาใช้เป็นรายแรกๆ ของประเทศไทย โดยเชื่อมเข้ากับเครือข่ายของ DCS และให้ติดตั้งตามจุดดังนี้
• สำนักกรรมการจัดการ
• สำนักกรรมการบริหาร DLC
• สำนักกรรมการบริหาร DPC
• สำนักกรรมการบริหาร DIS
• สำนักกรรมการบริหาร ด้านบัญชี
ทั้งนี้ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2538 โดยให้ DCS จัดวางระบบให้เป็นไปตามมตินี้ และให้ทุกบริษัทส่งผู้เกี่ยวข้องเข้ารับอบรมตามที่ DCS กำหนด
33. สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 101 ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2539 ได้มีมติเห็นควรให้จัดสรรหุ้นของบริษัท จำหน่ายให้แก่พนักงานบริษัทและบริษัทในเครือ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจส่งเสริมสร้างสรรการบริหารงานและการมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าขององค์กร โดยให้จัดสรรและกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการจำหน่ายและจองซื้อหุ้น ดังนี้
1. หุ้นที่จัดสรรจำหน่ายแก่พนักงานจำนวน 329,322 หุ้น
2. ราคาเสนอขายสำหรับพนักงานในราคาหุ้นละ 18 บาท (ราคาขายสำหรับบุคคลทั่วไป หุ้นละ 20 บาท)
3. หลักเกณฑ์ในการจัดสรร

• พนักงานที่ได้รับบรรจุเป็นพนักงานแล้วจึงจะมีสิทธิซื้อหุ้นได้

• พนักงานแต่ละคนอาจจองซื้อได้คนละไม่เกิน 5,000 หุ้น และต้องจองซื้อ   ไม่น้อยกว่า 200 หุ้น

• หากพนักงานจองซื้อเกินกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรจำหน่ายตามข้อ 1. ก็ให้จัดสรรแบ่งเฉลี่ยตามสัดส่วนการจองซื้อ

4. กำหนดให้จองซื้อหุ้นได้ตั้งแต่วันที่ประกาศนี้ จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2539 โดยให้ฝ่ายอำนวยการกลางของบริษัทในเครือทุกบริษัทรวบรวมรายชื่อและจำนวนที่ซื้อ ส่งฝ่ายทะเบียนหุ้นบริษัท ธรรมนิติกรุ๊ป จำกัด นับเป็นบริษัทมหาชนรายแรกๆนับแต่มีการตรากฎหมายบริษัทมหาชนขึ้นบังคับใช้
5. กำหนดจ่ายชำระค่าหุ้นที่ได้รับจัดสรรในวันที่ 25 มีนาคม 2539
6. สำหรับพนักงานที่จองซื้อหุ้นสามารถขอใช้สิทธิเงินกู้สวัสดิการเพื่อชำระค่าหุ้น โดยใช้หุ้นที่ซื้อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในวงเงินไม่เกินร้อยละ 80 ของมูลค่าหุ้นที่ซื้อ
34. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 บริษัท ธรรมนิติกรุ๊ป จำกัด ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัท มหาชน ตามกฎหมายว่าด้วย บริษัท มหาชน จำกัด โดยใช้ชื่อว่า “บริษัท ธรรมนิติ จำกัด (มหาชน)” เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “THE DHARMNITI PUBLIC COMPANY LIMITED” ทะเบียนเลขที่ บมจ.619
35. สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 38 (142) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2544 ให้จัดตั้งบริษัทใหม่ ชื่อว่า “บริษัท ธรรมนิติเพรส จำกัด” (Dharmniti Press Co.,Ltd.) มีทุนจดทะเบียนจำนวน 3 ล้านบาท โดยให้บริษัท ธรรมนิติ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นทั้งหมด เพื่อดำเนินธุรกิจจำหน่ายสิ่งพิมพ์
36. ปีพ.ศ. 2552 บริษัท ฝึกอบรมและสัมมนาธรรมนิติ จำกัด ได้เริ่มจัดทำหลักสูตรอบรมผู้ทำบัญชีผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่ปฏิบัติการภายใต้ระบบ Scorm version1.2 และระบบ LMS ตามหลักเกณฑ์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย เรื่องเจาะลึกการวางระบบบัญชีแบบมืออาชีพ โดยเป็นหลักสูตรที่มีเนื้อหาความยาว 6 ชั่วโมง และนับชั่วโมงผู้ทำบัญชีได้ 6 ชั่วโมง เรียนผ่านเว็บไซต์ www.dst.co.th ทั้งนี้เป็นหลักสูตรแบบกำหนดสิทธิระยะเวลาการเรียน ที่ผู้เรียนสามารถเข้ามาใช้งานได้ไม่จำกัดภายในเป็นระยะเวลา 60 วัน ต่อการลงทะเบียนหนึ่งครั้ง โดยหลังการผ่านเนื้อหาครบทุกบทเรียนแล้ว ผู้เรียนจะต้องทำข้อสอบจำนวน 30 ข้อ ที่ระบบจะทำการสุ่มขึ้นมาจากจำนวนข้อสอบทั้งหมดในระบบ 90 ข้อ ซึ่งเกณฑ์การสอบผ่านคือจำนวน 18 ข้อขึ้นไป และมีสิทธิสอบทั้งสิ้น 2 ครั้ง โดยเมื่อสอบผ่านแล้วสามารถรับหนังสือรับรองผ่านระบบได้ทันที
37. สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 101 (205) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2555 ให้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ดีไอทีซี จำกัด เพื่อให้ดำเนินงานและธุรกิจเกี่ยวกับไอที มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดย
1. ให้โอนพนักงานในสังกัดศูนย์การสารสนเทศของบริษัท ธรรมนิติ จำกัด (มหาชน)ทุกคน ไปสังกัดบริษัท ดีไอทีซี จำกัด และรับเงินเดือนตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากบริษัท ดีไอทีซี จำกัด ตั้งแต่งวดเงินเดือนวันที่ 21 มกราคม 2555 เป็นต้นไป โดยให้พนักงานที่โอนย้ายมีตำแหน่งหน้าที่พร้อมสิทธิประโยชน์ตามเดิมทุกประการ
2. ให้โอนรายได้ที่ศูนย์สารสนเทศของบริษัท ธรรมินิติ จำกัด (มหาชน) ได้รับจากลูกค้าทุกราย รวมทั้งบริษัทในเครือไปเป็นรายได้ของบริษัท ดีไอทีซี จำกัด ตั้งแต่งวดเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นไป
3. ให้บริษัท ดีไอทีซี จำกัด สังกัดกลุ่มสำนักพัฒนาการบริหารธรรมนิติ และมีหน้าที่ต้องจ่ายค่า loyalty แก่บริษัท ธรรมนิติ จำกัด (มหาชน) เช่นเดียวกับทุกบริษัทในเครือตั้งแต่งวดเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นไป
4. ในระยะเริ่มแรก ให้การบังคับบัญชาพนักงานบริษัท ดีไอทีซี จำกัด ขึ้นต่อสำนักกรรมการจัดการตามเดิมไปพลางก่อน
38. สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 108 (212) เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556 ให้เข้าถือหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทในเครือดังต่อไปนี้
1. ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ดีไอทีซี จำกัด จำนวน 7,000,000 บาท รวมเป็น 8,000,000 บาท โดยดำเนินการซื้อในเดือนมีนาคม 2556
2. ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด จำนวน 7,000,000 บาท รวมเป็น 10,000,000 บาท โดยดำเนินการซื้อในเดือนมีนาคม 2556
39. สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 109 (213) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์2556 ให้จัดซื้อที่ดิน โฉนดเลขที่ 92512 92173 92174 92175 ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่รวม 136 ไร่ 1 งาน 34 ตารางวา ในราคา 51 ล้านบาท    เพื่อสำรองความมั่นคงเกี่ยวกับค่าเงินและเป็นการลงทุนสำหรับอนาคต โดยในระหว่างที่ยังไม่ได้ทำประโยชน์อื่นใด ให้จัดให้เช่าระยะสั้นได้
40. เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 สภากรรมการมีมติให้แยกบริษัท ธรรมนิติการบัญชีและภาษีอากร จำกัด ออกจากด้านบัญชี และตั้งคณะกรรมการและคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ เพื่อทำหน้าที่บริหารงานของบริษัท ธรรมนิติการบัญชีและภาษีอากร จำกัด ต่อไป และในการประชุมครั้งนี้ สภากรรมการมีมติแต่งตั้งนายดุลยทัศน์ พืชมงคล เป็นกรรมการจัดการ คนที่ 7  ทำให้คณะกรรมการจัดการ ประกอบด้วย
1. นายไพศาล  พืชมงคล กรรมการจัดการ คนที่ 1
2. นายพิชัย  ดัชณาภิรมย์ กรรมการจัดการ คนที่ 2
3. นายพิชัย  พืชมงคล กรรมการจัดการ คนที่ 3
4. นายวิสูตร  กาญจนปัญญาพงศ์ กรรมการจัดการ คนที่ 4
5. นางสาวอุษา  ชูชินปราการ กรรมการจัดการ คนที่ 5
6. นางสาวอโณทัย  ฉอ้อนพจน์ กรรมการจัดการ คนที่ 6
7. นายดุลยทัศน์   พืชมงคล กรรมการจัดการ คนที่ 7
8. นายคำนึง  สาริสระ กรรมการจัดการสำรอง
9. นายพีระเดช  พงษ์เสถียรศักดิ์ กรรมการจัดการสำรอง
41. เนื่องจากกรรมการจัดการบางท่านพ้นจากตำแหน่ง และเกษียณอายุ สภากรรมการได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 126 (230) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 แต่งตั้งกรรมการจัดการสำรองเพิ่ม 3 คน เพื่อเตรียมการถ่ายโอนอำนาจแก่ผู้สืบทอดภาระกิจรุ่นใหม่ ทำให้คณะกรรมการจัดการประกอบด้วย
1. นายไพศาล  พืชมงคล กรรมการจัดการ คนที่ 1
2. นายพิชัย  พืชมงคล กรรมการจัดการ คนที่ 2
3. นายวิสูตร  กาญจนปัญญาพงศ์  กรรมการจัดการ คนที่ 3
4. นางสาวอุษา  ชูชินปราการ กรรมการจัดการ คนที่ 4
5. นายดุลยทัศน์  พืชมงคล กรรมการจัดการ คนที่ 5
6. นายพีระเดช  พงษ์เสถียรศักดิ์ กรรมการจัดการสำรอง
7. นายคำนึง  สาริสระ กรรมการจัดการสำรอง
8. นางสาวปนัดดา  กาญจนดิษฐ์  กรรมการจัดการสำรอง
9. นางสาวกิตติยา  อาภากุลอนุ  กรรมการจัดการสำรอง
10. นายกัมพล  ทรัพย์ปรุง กรรมการจัดการสำรอง
42. สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 124 (228) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ให้จัดซื้อที่ดินที่ถนนประชาชื่น 20 เนื้อที่ 525 ตารางวา และได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 และวันที่ 9 ธันวาคม 2558 เป็นที่ดิน 4 โฉนด ในราคารวม 84 ล้านบาท
43. สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 128 (233) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 ตามที่คณะกรรมการจัดการชุดที่ 1 เสนอ ให้คณะกรรมการจัดการชุดที่ 1 พ้นจากตำแหน่ง ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 และให้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการชุดที่ 2 ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการบริหารและศูนย์การนำของธรรมนิติในรุ่นที่ 3 รับภาระภารกิจของธรรมนิติไปสู่ธรรมนิติ 100 ปี ในปี 2590 ประกอบด้วย
1. นายดุลยทัศน์  พืชมงคล เป็นกรรมการจัดการคนที่ 1
2. นายพีระเดช  พงษ์เสถียรศักดิ์ เป็นกรรมการจัดการคนที่ 2 ดูแลรับผิดชอบ บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด (เฉพาะกิจการตรวจสอบบัญชี)
3. นางสาวปนัดดา  กาญจนดิษฐ์ เป็นกรรมการจัดการคนที่ 3 ดูแลรับผิดชอบ บริษัท ธรรมนิติการบัญชีและภาษีอากร จำกัด
4. นายกัมพล  ทรัพย์ปรุง เป็นกรรมการจัดการคนที่ 4 ดูแลรับผิดชอบ ด้านกฎหมายและคดี
5. นายคำนึง  สาริสระ เป็นกรรมการจัดการคนที่ 5 ดูแลรับผิดชอบ บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด (เฉพาะกิจการตรวจสอบภายในและบริหารความเสี่ยง)
6. นางสาวกิตติยา  อาภากุลอนุ เป็นกรรมการจัดการคนที่ 6 ดูแลรับผิดชอบ ด้านสำนักพัฒนาการบริหารธรรมนิติ
โดยให้คณะกรรมการจัดการชุดที่ 2 เข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 และพร้อมกันนี้ สภากรรมการมีมติให้ยกฐานะกิจการตรวจสอบภายในและวางระบบบัญชีของบริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด เป็นองค์กรระดับด้าน ขึ้นตรงต่อคณะกรรมการจัดการ แต่ให้คงสังกัดกับบริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด ต่อไปตามเดิม มีชื่อว่า สำนักงานตรวจสอบภายในและบริหารความเสี่ยง
“นายคำนึง สาริสระ กรรมการจัดการคนที่ 5 ได้ลาออก และสภากรรมการได้แต่งตั้งนางสาวกิตติยา อาภากุลอนุ กรรมการจัดการคนที่ 6 เป็นกรรมการจัดการคนที่ 5 จึงมีคณะกรรมการจัดการชุดที่สองดังนี้

 

 

1. นายดุลยทัศน์  พืชมงคล กรรมการจัดการคนที่ 1
2. นายพีระเดช  พงษ์เสถียรศักดิ์ กรรมการจัดการคนที่ 2
3. นางสาวปนัดดา  กาญจนดิษฐ์ กรรมการจัดการคนที่ 3
4. นายกัมพล  ทรัพย์ปรุง กรรมการจัดการคนที่ 4
5. นางสาวกิตติยา  อาภากุลอนุ กรรมการจัดการคนที่ 5
สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 130 (234) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 รับทราบการลาออกจากตำแหน่งกรรมการของคุณอุษา ชูชินปราการ และมีมติแต่งตั้งนางสาวปนัดดา กาญจนดิษฐ์ กรรมการจัดการคนที่ 3 ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการในสภากรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างลง
44. คณะกรรมการจัดการได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 494 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ให้เสนอสภากรรมการเพื่อมีมติเห็นชอบในการจัดตั้งบริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด (Dharmniti Internal Audit Co., Ltd.) มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ประกอบธุรกิจด้านวิชาชีพเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน พัฒนา และวางระบบ การบริหารความเสี่ยง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน
45. สภากรรมการ มีมติในการประชุมครั้งที่ 126 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 ให้ลงทุนก่อสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ บนที่ดินที่จัดซื้อที่ถนนประชาชื่น 20 (ซอยเพิ่มทรัพย์) โดยได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารตามมติสภากรรมการ มีรายการสังเขปดังนี้
1. ก่อสร้างอาคารคอนกรีต สูง 7 ชั้น เนื้อที่กว่า 9,000 ตารางเมตร และได้รับหมายเลขบ้านเป็นบ้านเลขที่ 178 ซอยเพิ่มทรัพย์ (ประชาชื่น 20) ถนนประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
2. ได้ว่าจ้างบริษัท เบสท์เวย์ จำกัด เป็นผู้ทำการก่อสร้างอาคารและระบบต่างๆ โดยว่าจ้างบริษัทแปลนแอสโซวิเอชั่น จำกัด เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง
3. ได้ลงมือก่อสร้างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และแล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2559 โดยได้ย้ายสำนักงานจากสำนักงานบางโพ มาที่สำนักงานใหม่เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559 มีบริษัทที่ย้ายมาใช้สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ประกอบด้วย

• บริษัท ธรรมนิติ จำกัด (มหาชน)

• บริษัท ธรรมนิติการบัญชีและภาษีอากร จำกัด

• บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด

• บริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด

• บริษัท ฝึกอบรมและสัมมนาธรรมนิติ จำกัด

• บริษัท ธรรมนิติ เพรส จำกัด

• บริษัท สำนักพัฒนาการบริหารธรรมนิติ จำกัด

• บริษัท ดีไอทีซี จำกัด

46. การทำบุญสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ ซอยเพิ่มทรัพย์ ประชาชื่น 20 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 เวลาเช้า คณะกรรมการจัดการได้จัดงานทำบุญสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ ตามมติสภากรรมการ โดยอาราธนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นประธานสงฆ์ (ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ทรงพระนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงเป็นประธานสงฆ์ในงานทำบุญเปิดสำนักงานใหญ่ธรรมนิติเป็นครั้งที่สอง หลังจากที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช เจ้าฯ (วาสน์ วาสโน) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ทรงเป็นประธานสงฆ์ในงานทำบุญสำนักงานใหญ่ธรรมนิติที่วัดพระยายัง เมื่อ พ.ศ. 2527) และศาสตราจารย์ ปรีชา พานิชวงศ์ ประธานสภากรรมการ เป็นประธานจัดงาน มีกรรมการ กรรมการจัดการ ผู้บริหาร พนักงาน ผู้ถือหุ้นของบริษัท เข้าร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง

 

47. สิ่งศักดิ์สิทธิ์และของสำคัญของธรรมนิติ
สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของธรรมนิติ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และของสำคัญดังต่อไปนี้
1. ไม่มีศิลาฤกษ์และไม่มีการวางศิลาฤกษ์ แต่มีการวางศิลาฤทธิ์ตามแบบแผนพิธีกรรมโบราณตามตำราพิชัยสงคราม ลงอักขระภาษาขอมด้วยยันต์พระอิติปิโสแปดทิศ วางตามตำแหน่งประจำทิศทั้งแปดทิศ และลงอักขระภาษาขอมด้วยยันต์ชุมนุมธาตุ วางตำแหน่งตรงกลางบริเวณด้านใต้ของห้องลิฟต์ โดยนายไพศาล พืชมงคล เป็นผู้เขียนและปลุกเสกยันต์และวางศิลาฤทธิ์ตามพิชัยฤกษ์
2. พระภูมิชัยมงคล ซึ่งปรากฏขึ้นในสมาธินิมิต และนายไพศาล พืชมงคล ได้ติดตามแสวงหาจากหลายที่ ในที่สุดจึงพบที่พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิ พราหมณกุล) และได้รับประทานให้โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ จากนั้นนายไพศาล พืชมงคล ได้ทำพิธีเชิญพระภูมิเจ้าที่ประจำภูมิที่ตั้งบริษัท สถิตในองค์พระภูมิชัยมงคล จากนั้นทำพิธีตั้งศาลและเชิญพระภูมิชัยมงคลประจำที่เพื่อความสวัสดี เพื่อความคุ้มครอง และเพื่อสิริมงคลแก่ชาวธรรมนิติและลูกค้าทั้งปวง
3. ท้าวจตุคามรามเทพ ซึ่งเป็นเทวดาศักดิ์ สิทธิ์แห่งทะเลใต้ที่คุ้มครองโลกและประเทศไทยเป็นระยะตามกาล ซึ่งบริษัทได้มาเมื่อประมาณ ปี 2550 และสถิตอยู่ที่สำนักงานใหญ่บางโพตลอดมา โดยนายไพศาล พืชมงคล ได้อัญเชิญมาสถิต ณ สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ด้วย จากนั้น พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล เจ้าพิธีสร้างท้าวจตุคามรามเทพได้มาประกอบพิธีอัญเชิญสถิตและเบิกเนตรอีกครั้งหนึ่ง

 

 

4. พระประธานประจำบริษัท มีสององค์

• องค์แรก เป็นพระพุทธชินราชจำลอง ซึ่งนายเทียม หรูวรรธนะ พ่อตานายไพศาล พืชมงคล มอบให้เมื่อครั้งเปิดสำนักงานใหญ่ธรรมนิติที่วัดพระยายัง

• องค์ที่สอง ปรากฏขึ้นในสมาธินิมิตของนายไพศาล พืชมงคล จึงได้กำหนดแบบและมอบหมายให้นายวิสูตร กาญจนปัญญาพงศ์ อดีตกรรมการจัดการในชุดแรก ประสานงานจัดการปั้นหล่อ เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก หน้าตักกว้าง 9 นิ้ว น้ำหนัก 97 กิโลกรัม หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ต่างประเทศ นายไพศาล พืชมงคล เป็นประธานในพิธีหล่อพระและอัญเชิญมวลสารจากสากลจักรวาลมาผสมกับทองสัมฤทธิ์ และสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ได้ทำพิธีปลุกเสกและเบิกเนตรเป็นพระประธานประจำธรรมนิติ ถวายพระนามว่า “พระพุทธประดิษฐ์มงคล” สถิตเป็นพระประธานของธรรมนิติ ณ สำนักงานใหญ่แห่งใหม่

5. สิงห์คู่ทำจากไม้มะขาม ฝีมือช่างคนเดียวกันกับช่างที่ทำสิงห์คู่ ซึ่งสถิตอยู่ที่หน้าสำนักงานใหญ่บางโพ ซึ่งนายไพศาล พืชมงคล ได้มาเมื่อปี พ.ศ. 2531 และชำรุดผุจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ตามกาลเวลา จึงได้แสวงหาสิงห์คู่ชุดใหม่ เพื่อประดิษฐานไว้ที่หน้าสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ และได้มาจากจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผู้ขายได้ซื้อมาขายเมื่อ 30 กว่าปีก่อน จนกระทั่งช่างที่ทำได้ถึงแก่กรรมไปในเวลาใกล้เคียงกันนั้น ปรากฏว่าไม่มีผู้ซื้อจนต้องเก็บไปไว้หลังร้าน และได้พบโดยบังเอิญ จึงได้เชิญมาประดิษฐานไว้เพื่อป้องกันสรรพภัย สรรพโรค และสรรพอุบาทว์ และเพื่อความเป็นสิริมงคล เพื่อความคุ้มครองแก่ชาวธรรมนิติและลูกค้าทั้งปวง นายไพศาล พืชมงคล ได้ทำพิธีปลุกเสกประชุมธาตุนามรูปและเบิกเนตรสิงห์คู่นี้
6. ภาพเขียนพระสุริยันยาตรา เป็นภาพเขียนสำคัญขนาดใหญ่ ที่นายไพศาล พืชมงคล กำหนดแบบให้เขียนขึ้น สำหรับประจำห้องบุศย์ ขันธวิทย์ ซึ่งเป็นห้องรับรองใหญ่ของสำนักงานใหญ่ เป็นภาพพระอาทิตย์ทรงรถมีธงธรรมนิติเป็นธงชัย เหลื่อมเขายุคลธร เบิกอรุณ โฉมหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นสัญญาณหมายของการเริ่มต้นแห่งยุคที่เจริญรุ่งเรืองใหม่ของธรรมนิติ นายไพศาล พืชมงคล ได้อาศัยวิชาโหราศาสตร์ เลขศาสตร์ ดาราศาสตร์ และพิชัยสงคราม กำหนดรหัสนัยเป็นเลขสี่ตัวไว้ที่บังแทรก ประกอบด้วยเลข 9, 5, 5 และ 2 ซึ่งมีความหมายแห่งปัจจุบันและอนาคตดังนี้คือ

 

 

• สำนักงานใหญ่และภาพนี้ได้เขียนขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2559 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งจะต่อเนื่องกับรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร รัชกาลที่ 10 ซึ่งพระบรมราชจักรีวงศ์จักสืบสันตติวงศ์สืบไปสู่รัชกาลที่ 11 และสืบต่อไปเป็นลำดับ ไม่สิ้นสุดลงแค่รัชกาลที่ 10 ดังคำพยากรณ์แต่ก่อนมา

• ความสมดุลแห่งสรรพสิ่งคือธรรมะ อันแสดงออกโดยผลรวมของเลขสามตัวข้างบน คือ 9, 5 และ 5 รวมเป็น 19 อันเป็นกำลังของดาวพฤหัสซึ่งเป็นประธานแห่งศุภเคราะห์ เป็นประธานเทพแห่งธรรมและธรรมะ โดยเลขสามตัวล่าง คือ 5, 5 และ 2 รวมเป็น 12 อันเป็นกำลังของเทพอสูรราหู ซึ่งเป็นประธานแห่งอธรรม และอสูรทั้งหลาย แต่ทรงไว้ซึ่งความเป็นอมตะนิรันดร ธรรมะและอธรรมเป็นของคู่กันสำหรับโลก ไม่มีสิ่งใดดีพร้อม ผู้มีปัญญาจึงพึงวางตนและดำเนินการให้สอดคล้องกับวิถีแห่งธรรม หรือวิถีแห่งฟ้าจึงจะได้รับมงคล และนี่คือหลักคิดและหลักปฏิบัติสำคัญของมวลมนุษย์และชาวธรรมนิติ ที่ผู้ใดเข้าถึงก็สามารถเข้าถึงความเป็นมงคลได้อย่างแท้จริง

• เลขสามตัวด้านซ้าย คือ 9, 5 และ 2 รวมกันเป็น 16 และเลขสามตัวด้านขวา คือ 9, 5 และ 2 เช่นเดียวกัน รวมกันเป็น 16 ซึ่งเลข 16 คือโสฬสพละหรือกำลังสูงสุดแห่งจักรวาลที่ไม่มีกำลังใดต้านทานได้ เป็นพลังอำนาจแห่งธรรม ที่นำมาซึ่งสัมฤทธิผล หมายความว่าการงานทั้งปวงของชาวธรรมนิติและลูกค้าทั้งปวงจักต้องตั้งสัมฤทธิคติและผลสำเร็จเป็นเป้าหมายสูงสุดเสมอไป

• ตัวเลขทั้งหมดคือ 9, 5, 5 และ 2 รวมกันเป็น 21 คือกำลังของพระศุกร์ หมายถึงภาวะอันศานติ ที่สุดแห่งความสำเร็จ และความสุขแห่งโลกียชน ซึ่งเป็นเป้าหมายทั่วไปของชีวิตทั้งหลาย จักสำเร็จและบังเกิดแก่ธรรมนิติ ชาวธรรมนิติ และลูกค้าทั้งปวงด้วย

7. สำนักงานใหญ่ได้จัดพื้นที่ต้อนรับแรกไว้ที่ห้องโถงชั้นล่าง สำหรับชั้น 2 เป็นห้องอาหารรวมสำหรับผู้บริหารและพนักงาน ชั้น 4-7 เป็นสถานที่ปฏิบัติงานของบริษัท
สำหรับพื้นที่ชั้น 3 ได้จัดแบ่งออกเป็นสองส่วน คือพื้นที่ส่วนบริหาร เป็นที่ตั้งของสำนักกรรมการจัดการ ซึ่งเป็นองค์กรศูนย์กลางการนำของธรรมนิติ ส่วนที่สองคือพื้นที่ต้อนรับ รับรองและประชุม ซึ่งมี 9 ห้อง และอีก 2 ห้องอยู่ที่ชั้นล่าง และเพื่อเป็นเกียรติแก่คุณบุศย์ ขันธวิทย์ ปรมาจารย์และประธานกรรมการคนแรกของธรรมนิติ และคุณประดิษฐ์ เปรมโยธิน            ผู้สถาปนาธรรมนิติ จึงได้ตั้งชื่อห้องรับรองว่า ห้องบุศย์ ขันธวิทย์ และห้องประชุมใหญ่ว่า ห้องประดิษฐ์ เปรมโยธิน
48. สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 136 (240) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 ให้จัดซื้อที่ดินแปลงข้างเคียงอาคารประชาชื่น โฉนดเลขที่ 8668 171561 171562 171563 ตำบลบางซื่อ อำเภอบางซื่อ จังหวัดกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 25 ตารางวา ในราคา 92 ล้านบาท เพื่อเป็นพื้นที่สำรอง และให้ปรับปรุงเป็นสถานที่จอดรถชั่วคราว ในวงเงินงบประมาณ 12 ล้านบาท
49. สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 143 (247) เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561รับทราบการลาออกจากตำแหน่งกรรมการของนายไพศาล พืชมงคล และแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของสภากรรมการ โดยได้แต่งตั้งนางสาวดารารัตต์ พืชมงคล เป็นกรรมการสภากรรมการ แทนตำแหน่งที่ว่างลง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการจัดการคนที่ 1
50. สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 149 (253) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ให้จัดซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 94431 และเลขที่ 35273 ตำบลบางซื่อ อำเภอบางซื่อ จังหวัดกรุงเทพมหานคร เนื้อที่รวม 185 ตารางวา ในราคา 39 ล้านบาท เพื่อเป็นพื้นที่สำรองในการขยายกิจการของบริษัทในอนาคต
51. สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 530 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ให้เข้าถือหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ดีไอทีซี จำกัด จำนวน 30,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็นเงิน 3,000,000 บาท โดยดำเนินการซื้อในเดือนพฤษภาคม 2562
52. สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 538 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ให้เข้าถือหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทในเครือดังต่อไปนี้
1. ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท ธรรมนิติการบัญชีและภาษีอากร จำกัด จำนวน 60,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็นเงิน 6,000,000 บาท โดยดำเนินการซื้อในเดือนเมษายน 2563
2. ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด จำนวน 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็นเงิน 10,000,000 บาท โดยดำเนินการซื้อในเดือนเมษายน 2563
และมีมติให้ออกประกาศมติสภากรรมการว่าด้วยการปรับตัวสู่คุณภาพ ประสิทธิภาพ มาตรฐาน และจรรยาบรรณใหม่ เนื่องในโอกาสธรรมนิติมีอายุครบรอบ 72 ปี รายละเอียดปรากฏตามเอกสารในภาคผนวก
53. สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 148 (252) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 รับทราบการลาออกจากตำแหน่งกรรมการสภากรรมการของ ดร.ยงยุทธ สาระสมบัติ และแต่งตั้งนายสรณัฏฐ์ สาระสมบัติ ดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลง และรับทราบการลาออกของ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ โดยมีผลในวันที่ 14 มีนาคม 2563

การลาออกของกรรมการทั้งสองท่านนี้เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เนื่องจากดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาและอธิการบดีมหาวิทยาลัยจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์

สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 153 (257) เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 แต่งตั้งนายวิชัย จึงรักเกียรติ อดีตผู้อำนวยการกองกฎหมายและรองอธิบดีกรมสรรพากร ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระในสภากรรมการ แทนตำแหน่งที่ว่างลง

สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 154 (258) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 แต่งตั้งนางสาวโสรยา ตินตะสุวรรณ์ เป็นผู้ช่วยกรรมการจัดการ

สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 156 (260) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 แต่งตั้งนางสาวดารารัตต์ พืชมงคล เป็นกรรมการจัดการสำรอง

54. สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 157 (261) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 แต่งตั้งนายวุฒิ มีช่วย อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลปกครองภาค 5 และอดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด ดำรงตำแหน่งกรรมการแทนตำแหน่งของนายมนตรี ตัณฑวิรัตน์ กรรมการสภากรรมการ ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563

สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 157 (261) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 แต่งตั้งนางสาวอริสา ชุมวิสูตร เป็นผู้ช่วยกรรมการจัดการ

55. สภากรรมการมีมติในการประชุมครั้งที่ 157 (261) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 รับทราบการถึงแก่อนิจกรรมของ ศ.(พิเศษ) ปรีชา พานิชวงศ์ ประธานสภากรรมการ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 อายุ 92 ปี และแต่งตั้งพลเอกศิรินทร์ ธูปกล่ำ รองประธานสภากรรมการให้ดำรงตำแหน่งประธานสภากรรมการแทน

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?