03 พฤศจิกายน 2565
เมื่อปัญหาชีวิตคู่ถึงทางตัน การเลือกทางออกด้วยการหย่า จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ถือเป็นการสิ้นสุดในแง่กฎหมาย แต่ด้วยปัญหาแต่ละคู่อาจจบอย่างไม่ลงตัว หรือระยะทางที่ไม่สะดวกในการนัดพบต่อหน้านายทะเบียน จึงเกิดคำถามในยุคออนไลน์นี้ว่า การหย่านั้นสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้หรือไม่ วันนี้ธรรมนิตินำข้อมูลมาฝากค่ะ
การจดทะเบียนหย่า
การหย่า คือการสิ้นสุดการสมรสในทางกฎหมาย ซึ่งมีคำจำกัดความการสิ้นสุดการสมรสไว้ 3 กรณี คือ
1. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่ความตาย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย
2. การจดทะเบียนหย่า
โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย โดยสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1) สำหรับการจดทะเบียนหย่าในสำนักทะเบียน คู่หย่าตกลงเรื่องทรัพย์สิน หนี้สิน การปกครองบุตร ค่าเลี้ยงดูบุตร หรือเรื่องอื่นๆ โดยทำเป็นหนังสือหย่า หรือจัดสรรทรัพย์สินตามกฎหมายซึ่งจะเป็นการแบ่งคนละครึ่ง และคู่หย่ายื่นคำร้องพร้อมหนังสือหย่าต่อนายทะเบียน
2) สำหรับการจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน สำหรับคู่หย่าที่ไม่สะดวกด้านสถานที่หย่า หรือไม่สะดวกพบเจอหน้ากัน จึงต่างคนต่างหย่าในสำนักทะเบียนที่แต่ละคนสะดวก โดยคู่หย่าตกลงเรื่องทรัพย์สิน หนี้สิน การปกครองบุตร ค่าเลี้ยงดูบุตร หรือเรื่องอื่นๆ แล้วทำเป็นหนังสือหย่า แต่จะต่างกันที่การหย่าต่างสำนักทะเบียน โดยคู่หย่าต้องตกลงกันก่อนว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ยื่นคำร้องก่อนหลัง และแต่ละฝ่ายจะยื่นคำร้อง ณ สำนักทะเบียนใด โดยมีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้
• สำนักทะเบียนแห่งแรกถือปฏิบัติตามระบบเดิม คือ การบันทึกข้อความต่างๆ โดยการเขียนด้วยมือลงในคำร้อง (คร.1) และทะเบียนการหย่า (คร.6) จากนั้นถือปฏิบัติตามระเบียบ มท.ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2541 ข้อ 21 ก.
• สำนักทะเบียนแห่งที่สอง ถือปฏิบัติตามขั้นตอนข้างต้นข้อ 5-8 และถือปฏิบัติตามระเบียบ มท. ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2541 ข้อ 21
***ดังนั้นปัจจุบันจึงยังไม่มีงานบริการจดทะเบียนหย่าออนไลน์
3. ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส
หากคู่หย่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม และสาเหตุการหย่านั้นเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 ต้องติดต่อทนายความส่งหนังสือบอกกล่าวนัดอีกฝ่ายมาในระยะเวลาที่กำหนด แต่หากฝ่ายที่นัดไม่มา ก็สามารถจ้างทนายความฟ้องคดีต่อศาล หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คู่หย่าไม่ต้องจดทะเบียนหย่าอีก โดยนำคำพิพากษาไปขอใบหย่า เรียกว่าฟ้องหย่าฝ่ายเดียว แต่หากการหย่าขาดจากกันมีเงื่อนไขให้ไปจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียน การสมรสจึงจะสิ้นสุด
เอกสารที่ต้องใช้เพื่อการจดทะเบียนหย่า
1) บัตรประจำตัวประชาชน (หนังสือเดินทาง ในกรณีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ หรือใบสำคัญคนต่างด้าว)
2) ใบสำคัญการสมรส (คร.3) หรือสำเนาทะเบียนสมรส
3) ทะเบียนบ้าน
4) ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
5) ใบคำร้องขอจดทะเบียนหย่า
6) หนังสือหย่า หรือหนังสือสัญญาหย่า
7) คำร้องนิติกรณ์
8) สำเนาสูติบัตรบุตร (หากมีบุตรร่วมกัน)
9) พยานบุคคล อย่างน้อย 2 คน (ต้องมีอายุ 20 บริบูรณ์ขึ้นไป และเตรียมบัตรประชาชน พร้อมสำเนามาด้วย)
การแบ่งทรัพย์สิน
ว่าด้วยหลังจากการหย่า มีเงื่อนไขที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม แบ่งเป็น 2 กรณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 คือ
1) ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า
2) ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า
แม้การหย่าออนไลน์ในปัจจุบันจะยังไม่มีบริการ แต่งานออนไลน์ในหมวดการหย่ายังสามารถทำล่วงหน้าได้ เช่น การโหลดใบคำร้องต่างๆ การยื่นคำฟ้องอิเล็กทรอนิกส์ จองคิวเพื่อขอจดทะเบียนหย่าล่วงหน้า รวมถึงอัปโหลดเอกสารออนไลน์ล่วงหน้า แล้วสแกนเอกสารส่งไปที่ thaicnn@mfa.go.th
เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ และการหย่าไม่ได้เป็นตัวกำหนดบทบาทความเป็นพ่อแม่หรือลูก เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจ การที่ยังไม่มีงานหย่าออนไลน์บริการในปัจจุบันอาจจะช่วยชะลอเวลาเพื่อให้การลดบทบาทคู่สมรสผ่านการไตร่ตรองอย่างละเอียดและถี่ถ้วนมากขึ้นก็ได้