เรื่องควรรู้! สิทธิ์ที่ผู้มีเงินได้สามารถใช้หักลดหย่อนภาษีได้

เมื่อช่วงเวลาเสียภาษีมาถึง แน่นอนว่าย่อมถึงเวลาของการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องเอกสารเงินได้ และรายละเอียดการลดหย่อน ซึ่งในที่นี้เราจะพาคุณไปเจาะลึกในส่วนของค่าลดหย่อนและยกเว้นภาษี โดยไปดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ผู้มีเงินได้นั้นสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ และทำอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมายกำหนด

รวมสิทธิ์ที่ผู้มีเงินได้ใช้หักลดหย่อนภาษีได้

1. กรณีบุคคลธรรมดา หรือผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี

1) ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
2) คู่สมรส (ไม่มีเงินได้) 60,000 บาท
3) ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ ไม่เกิน 120,000 บาท
4) บุตรชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท โดยบุตรชอบด้วยกฎหมาย หักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวน ส่วนบุตรบุญธรรม หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน โดยบุตรต้องอายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยหรืออุดมศึกษา
5) ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ หักค่าลดหย่อน คนละ 30,000 บาท
6) ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ หักค่าลดหย่อน คนละ 60,000 บาท
7) ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป) ของผู้มีเงินได้หักค่าลดหย่อนและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
8) ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
9) เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงในปีภาษี แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
10) เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้รับยกเว้นในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ
11) ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักค่าลดหย่อนในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี
12) เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
13) ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
14) ดอกเบี้ยกู้ยืมที่จ่ายให้แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้าง สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย
15) เงินสมทบประกันสังคม หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง
16) ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
17) เงินบริจาค

2. กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล

หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท จากกรณีต่อไปนี้
1) เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษาและการกีฬา หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
2) เงินบริจาคหักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

3. กรณีกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท

1) เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษาและการกีฬา หักได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของ เงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
2) เงินบริจาค หักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

ค่าลดหย่อนและยกเว้นภาษีถือเป็นเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการคำนวณภาษีที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิ์ดังกล่าวมาหักออกจากเงินได้ได้อีกหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว ตามเกณฑ์ต่างๆ ข้างต้น ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาหรือลดทอนจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายได้

 

อ้างอิงข้อมูล
กรมสรรพากร

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?