04 กรกฎาคม 2562
กฎหมายประกันสังคม ได้กำหนดหน้าที่ของนายจ้างไว้หลายประการ ส่วนใหญ่จะมีระยะเวลากำหนดไว้ให้ปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามหรือมีเจตนาหลีกเลี่ยงฝ่าฝืนหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด นายจ้างจะมีความผิด ทั้งโทษทางอาญาและโทษทางแพ่ง
“นายจ้าง” มีหน้าที่ตามกฎหมายประกันสังคมนั้น หมายถึงใครบ้าง…
ตามกฎหมายประกันสังคมได้กำหนดความหมายของ “นายจ้าง” หมายถึง “ผู้ซึ่งรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้าง และให้หมายความรวมถึง ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล ให้มีความหมายรวมถึง ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย”
“ลูกจ้าง” ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้นายจ้างต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายประกันสังคม หมายถึงใคร…
“ลูกจ้าง” หมายถึง ผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร แต่ไม่รวมถึงลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน อันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในบังคับของกฎหมายประกันสังคม
หน้าที่ของนายจ้าง ตามกฎหมายประกันสังคมมีอะไรบ้าง
– ขึ้นทะเบียนนายจ้าง
เมื่อใดก็ตามที่นายจ้างมีลูกจ้างในกิจการตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป นายจ้างมีหน้าที่ต้องยื่นแบบขึ้นทะเบียนนายจ้างซึ่งเรียกว่า สปส.1-01 และยื่นแบบแสดงรายชื่อ ลูกจ้าง หรือแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนว่า แบบ สปส.1-03 เพื่อให้ลูกจ้างได้เป็นผู้ประกันตน
กฎหมายประกันสังคมได้กำหนดคุณสมบัติของลูกจ้างที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างและนายจ้างไม่ต้องยื่นแบบรายชื่อให้ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน ดังนี้
ประการแรก คือ ต้องเป็นลูกจ้างที่ไม่ได้รับการยกเว้นตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 4 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้แก่ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว รายวัน และลูกจ้างชั่วคราว รายชั่วโมงของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ฯลฯ
ประการที่สอง คือ ลูกจ้างต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่ในกรณีที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังคงทำงานในสถานประกอบการเดิมอยู่ต่อไปอย่างต่อเนื่อง บุคคลดังกล่าวก็จะต้องเป็นผู้ประกันตนต่อไป
– จ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง
กฎหมายประกันสังคมกำหนดให้มีกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า “กองทุนประกันสังคม” โดยให้นายจ้างผู้ประกันตนและรัฐบาลเป็นผู้จ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
– หน้าที่หักค่าจ้างของลูกจ้างเท่ากับจำนวนที่ต้องนำส่งเป็นเงินสมทบ
ทุกครั้งที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องหักค่าจ้างของลูกจ้างเท่ากับจำนวนที่ต้องนำส่งเป็นเงินสมทบ
– หน้าที่รับผิดใช้เงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตน
กรณีที่นายจ้างไม่ได้หักค่าจ้างของผู้ประกันตนไว้หรือนายจ้างหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างไว้แล้วแต่ไม่ได้นำส่ง หรือส่งไม่ครบจำนวนตามที่หักไว้ จะมีผลต่อนายจ้างและผู้ประกันตน (นายจ้างต้องรับผิดในจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างยังมิได้นำส่งกองทุน และเงินเพิ่มของเงินสมทบที่ยังไม่ได้นำส่งเข้ากองทุน)
– นำส่งเงินสมทบ
เมื่อนายจ้างหักเงินค่าจ้างของลูกจ้างไว้แล้ว นายจ้างจะต้องนำเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนที่นายจ้างได้หักไว้นั้น รวมทั้งเงินสมทบในส่วนที่นายจ้างต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนตามจำนวนที่เท่ากับเงินสมทบของลูกจ้าง นำส่งสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่หักเงินสมทบไว้ โดยนายจ้างต้องกรอกแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบคือ แบบ สปส.1-10 (ส่วนที่ 1 และ 2) และแบบ สปส.1-10/1 ให้ถูกต้องครบถ้วน
แหล่งที่มา : www.jobdst.com