ระวัง! 14 สัญญาณเตือน พฤติกรรมจ้างงานที่เข้าข่ายการบังคับใช้แรงงาน

12 ตุลาคม 2565


ขึ้นชื่อว่าแรงงาน นอกจากความหวังที่จะมีงานมั่นคง มีรายได้สำหรับเก็บออมและใช้จ่ายประจำวันแล้ว การไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการทำงานก็เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่หลายคนหวัง ซึ่งหากสถานประกอบการใดให้ความสำคัญกับกลุ่มแรงงานที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ชีวิตการทำงานของคนกลุ่มนี้ก็จะเป็นไปด้วยความยุติธรรม สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน แต่เมื่อไรก็ตามที่กลุ่มแรงงานถูกมองว่าเป็นเครื่องมือทำเงินและผลกำไร ก็เป็นไปได้ว่าพฤติกรรมการจ้างงานในสถานที่นั้นๆ อาจเข้าข่ายการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งมีจุดสังเกตหรือรายละเอียดอย่างไรไปติดตามกัน

การบังคับใช้แรงงาน เกิดขึ้นได้อย่างไร?

การบังคับใช้แรงงาน คือ การบังคับให้บุคคลทำงานโดยไม่สมัครใจ ด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอ้างเหตุเพื่อลงโทษ บีบบังคับ ข่มขู่ให้ทำงานหรือให้บริการ โดยบุคคลนั้นไม่สามารถขัดขืนการถูกบังคับได้ ทำให้ต้องทำงานโดยไม่เต็มใจ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับเสรีภาพและอิสรภาพในการทำงาน

ตัวอย่างเช่น การหลอกพาแรงงานไปทำงานบนเกาะ โดยให้ทำงานต่างจากที่ตกลงไว้และเวลาทำงานเกินกฎหมายกำหนด จ่ายค่าจ้างไม่ครบ ไม่ตรงเวลา หากแรงงานขัดขืนก็ถูกทำร้ายร่างกาย

 

องค์ประกอบที่บ่งบอกว่าเข้าข่ายการบังคับใช้แรงงาน

แบ่งออกเป็น 2 องค์ประกอบหลัก คือ

1. ลูกจ้างต้องรับการลงโทษ หรือการถูกคุกคาม ข่มขู่

2. ลูกจ้างไม่ยอมรับงานที่มอบหมายด้วยความสมัครใจ

 

14 สัญญาณเตือน พฤติกรรมจ้างงานที่เข้าข่ายการบังคับใช้แรงงาน

1. การบีบบังคับให้ลูกจ้างทำงานตามที่ต้องการ โดยลูกจ้างไม่สมัครใจ เช่น การลักพาตัว หรือจับตัวมากักขังบังคับให้ทำงาน

2. การสรรหาหรือเกณฑ์ลูกจ้างทำงานทั้งที่ไม่สมัครใจ และมีการขายลูกจ้างต่อกันไปเป็นทอดๆ โดยไม่ยินยอม

3. การสรรหาหรือเกณฑ์ลูกจ้างทำงานโดยไม่สมัครใจ ซึ่งเชื่อมโยงกับหนี้สินต่างๆ ของลูกจ้าง เช่น การให้เบิกเงินล่วงหน้า หรือให้เงินกู้

4. มีการออกกฎหรือบังคับให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเกินกว่าที่ตกลงไว้ในสัญญาจ้างงาน

5. การหลอกลวง หรือให้ข้อมูลบิดเบือนจากความจริงกับลูกจ้าง เกี่ยวกับลักษณะของงาน สภาพการทำงาน เนื้อหาหรือความถูกต้องตามกฎหมายของสัญญาจ้าง ที่อยู่อาศัยและสภาพความเป็นอยู่ สถานที่ทำงาน และค่าจ้าง

6. ลูกจ้างถูกบังคับให้พร้อมที่จะทำงานตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน

7. ลูกจ้างถูกจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวและการสื่อสารต่างๆ

8. ลูกจ้างมีสภาพความเป็นอยู่ที่เสื่อมโทรม

9. ลูกจ้างถูกบังคับให้มีส่วนร่วมในงานที่ผิดกฎหมาย

10. ลูกจ้างถูกบังคับให้ทำงานที่บ้านส่วนตัวของนายจ้าง หรือสมาชิกในครอบครัวของนายจ้าง

11. ลูกจ้างถูกบังคับหรือชักจูงให้ใช้สารเสพติด

12. ลูกจ้างถูกลงโทษหรือคุกคามโดยขู่จะแจ้งเจ้าหน้าที่

13. ลูกจ้างถูกลงโทษหรือคุกคามโดยการยึดเอกสารสำคัญประจำตัว หรือเอกสารการเดินทาง

14. ลูกถูกลงโทษหรือคุกคามโดยการทำให้สภาพการทำงานแย่ลงกว่าเดิม

 

การบังคับใช้แรงงาน ถือเป็นการจ้างงานที่ไม่มีความยุติธรรมและบางเคสอาจเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงการค้ามนุษย์ซึ่งผิดทั้งหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย ดังนั้นหากแนวทางการทำงานขององค์กรมีส่วนใดที่เข้าข่ายทั้ง 14 ข้อข้างต้น นายจ้างต้องรีบปรับแกไขและกำหนดแนวทางให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือสำหรับลูกจ้างหากได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในการทำงานควรแจ้งข้อมูลกับหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองแรงงาน เพื่อตรวจสอบและดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป

 

อ้างอิงข้อมูล

กองคุ้มครองแรงงาน

รัฐสภาไทย

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?