หากบิดาเสียชีวิต ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดามีสิทธิ์ได้รับมรดกหรือไม่?

03 พฤศจิกายน 2565

เรื่องของมรดก วางแผนจัดการดีก็หมดปัญหา แต่ที่เป็นประเด็นให้เห็นข่าวบ่อยๆ ก็เพราะความไม่ชัดเจนหรือไม่มีการจัดการไว้ก่อนหน้า เมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิตจึงเป็นปัญหารุงรังให้ทายาทที่อยู่ข้างหลัง ซึ่งทายาทมรดกก็มีหลายลำดับ และในบทความนี้จะเป็นประเด็นที่ว่า หากบิดาเสียชีวิต ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาจะมีสิทธิ์ได้รับมรดกหรือไม่ รายละเอียดเป็นอย่างไร ตามไปดูกัน

ความเป็นทายาทมรดกในฐานะบุตร

ในทางกฎหมายถือว่าบุตรเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของมารดาอยู่แล้ว แต่จะเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของบิดาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าบิดามารดาได้มีการจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แม้จะอยู่กินกันนานแค่ไหน ก็ยังถือว่าเป็นบุตรนอกกฎหมายของบิดา และบิดาก็เป็นบิดานอกกฎหมายของบุตรด้วย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แบ่งบุตรออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย

2. บุตรนอกกฎหมาย

3. บุตรบุญธรรม

โดยบุตรแต่ละประเภทจะมีความสัมพันธ์ สิทธิ์ และหน้าที่ในทางกฎหมายกับบิดามารดาแตกต่างกันไป

กฎหมายเกี่ยวกับการรับมรดก

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627

บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629

ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิ์ได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

(5) ปู่ ย่า ตา ยาย

(6) ลุง ป้า น้า อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635

สิทธิ์รับมรดกของทารกในครรภ์

จากรายละเอียดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายมีสิทธิ์ได้รับมรดกของบิดาได้ในฐานะลูก หากมีการรับรองจากบิดา แต่ถ้าไม่ได้การรับรองจากบิดา ก็จะไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดกของบิดา

*** การรับรอง ไม่ใช่การจดทะเบียนรับรองบุตร (หากจดทะเบียนรับรองบุตรจะทำให้เปลี่ยนสถานะเป็นบุตรตามกฎหมายของบิดา) แต่เป็นการที่บิดาให้การรับรองโดยพฤตินัย

ตัวอย่าง ชายหญิงอยู่กินกัน โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่แสดงความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาในที่ต่างๆ ต่อหน้าผู้คนอย่างเปิดเผย มีการจัดงานเลี้ยงฉลองการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการรับรองทารกในครรภ์ว่าเป็นบุตรของฝ่ายชาย

ดังนั้นจึงถือว่าทารกในครรภ์เป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิ์ได้รับมรดกของบิดา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 (1)

 

อ้างอิงข้อมูล

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?