บุตรนอกสมรส มีสิทธิ์อะไรบ้าง?
บุตรนอกสมรส ฟังแล้วอาจจะเหมือนเรื่องไกลตัว แต่หากลองเจาะลึกปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้บุคคลกลายเป็นบุตรนอกสมรสจะพบว่าแท้จริงๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ โดยเฉพาะกับรูปแบบการใช้ชีวิตคู่ของผู้คนยุคนี้ รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ตามไปดูกันเลย
บุตรนอกสมรส คือใคร?
บุตรนอกสมรส คือ บุตรที่เกิดจากบิดา-มารดา ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แม้จะมีการจัดพิธีมงคลสมรสเป็นที่รู้กันไปทั่ว หรืออยู่กินกันมานานหลายสิบปีก็ตาม โดยในทางกฎหมายจะถือว่าบุตรที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวนั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของแม่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น
บุตรนอกสมรสมีสิทธิ์อะไรบ้าง?
สิทธิ์ที่บุตรนอกสมรสมีเหมือนกับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ มีสิทธิ์รับมรดกของมารดา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
แต่บุตรนอกสมรสไม่สามารถรับมรดกของบิดาได้ เว้นแต่บิดาจะรับรองบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเสียก่อน
บุตรนอกสมรสจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้อย่างไร?
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 1547 “เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร”
บุตรนอกสมรสจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้ 3 วิธี คือ
- บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 1547 บุตรจะมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาตั้งแต่วันที่บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน
กรณีที่บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันภายหลัง บุตรจะมีฐานะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา และทำให้เกิดสิทธิ์รับมรดกในฐานะผู้สืบสันดาน ซึ่งการเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดานั้นจะมีผลย้อนไปนับตั้งแต่วันที่บุตรนั้นเกิด
- บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 1627 ได้บัญญัติว่า “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”
ดังนั้นผลจากข้อกำหนดตามกฎหมายนี้ ทำให้บุตรนั้นเกิดสิทธิ์ในการรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม โดยการรับรองบุตร แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
• การขอจดทะเบียนรับรองบุตร กรณีนี้มักจะเกิดจากการที่ฝ่ายบิดาไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับมารดาของบุตรได้ เช่น เลิกกันไปแล้ว ติดต่อมารดาบุตรไม่ได้ มีคู่สมรสใหม่แล้ว กรณีนี้บิดาต้องไปยื่นขอจดทะเบียนรับรองบุตรที่สำนักงานเขต/อำเภอ ซึ่งการขอจดทะเบียนนี้ ต้องให้บุตรและมารดาบุตรยินยอม (แต่ไม่จำเป็นต้องให้คู่สมรสของฝ่ายชายยินยอมด้วย) สำหรับกรณีที่บุตรอายุยังน้อยไม่สามารถเขียนหรือเซ็นยินยอมได้นั้น แม้มารดาจะยินยอมแทนก็ไม่สามารถกระทำได้ ดังนั้น การจดทะเบียนรับรองบุตรจึงมักจะทำเมื่อบุตรอ่านออกเขียนได้บ้างแล้ว
• การรับรองโดยพฤตินัย ไม่ได้เป็นการจดทะเบียนรับรองบุตร แต่เป็นการกระทำที่ทำให้รับรู้โดยทั่วกัน เช่น การแจ้งเกิด การให้ใช้นามสกุล การส่งเสียอุปการะเลี้ยงดู หรือการแสดงออกอย่างเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปว่าเป็นบุตรของตน กรณีนี้ถือว่าบิดารับรองบุตรโดยพฤตินัย และถือเป็นผู้สืบสันดานเสมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิ์รับมรดกบิดาได้ตามมาตรา 1629(1) แต่ไม่สามารถฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมายได้ เพราะกฎหมายยังไม่รับรองว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
***บุตรนอกสมรสที่บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร กับบุตรนอกสมรสที่บิดารับรองโดยพฤตินัย จะมีสิทธิ์เหมือนกันคือสามารถรับมรดกของบิดาในฐานผู้สืบสันดานได้
- มีคำพิพากษาจากศาลว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
วิธีนี้ใช้ในกรณีที่บิดาไม่ยอมรับว่าเป็นบุตร หรือไม่รับรองบุตร หรือฝ่ายบิดาประสงค์จะจดทะเบียนรับรองบุตร แต่มารดาของบุตรไม่อาจยินยอมให้ได้ เพราะตายหรือสูญหายหรือไม่สามารถติดต่อมารดาบุตรได้ เพื่อจะให้บุตรมีสิทธิ์รับมรดก จึงต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลให้พิพากษาว่าเป็นบุตร
ดังนั้น บุตรนอกสมรสที่บิดาจดทะเบียนรับรองบุตร กับ บุตรนอกสมรสที่บิดารับรอง จึงมีความเหมือนที่แตกต่างกัน ซึ่งบุตรนอกสมรสที่บิดาจดทะเบียนรับรองแล้วยอมมีสิทธิ์และหน้าที่เหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา (แม้บิดา มารดา ต่างฝ่ายมีคู่สมรสต่างหากก็ตาม) ส่วนบุตรนอกสมรสที่บิดารับรอง (โดยพฤตินัย) แล้วก็คงมีสิทธิ์เพียงได้รับมรดกในฐานผู้สืบสันดานเท่านั้น
อ้างอิงข้อมูล