12 ตุลาคม 2565
การกู้ร่วม เป็นหนึ่งทางเลือกช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการขอสินเชื่อจากธนาคารซึ่งจะทำให้ได้รับการอนุมัติได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่ต้องการใช้เงินก้อนใหญ่ หรือซื้อสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง แต่ฐานรายได้ของคนเพียงคนเดียวไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่ธนาคารกำหนด จึงต้องหาผู้กู้ร่วมหรือคนที่จะมาช่วยรับภาระหนี้ไปด้วยกัน วันนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกู้ร่วม แนวทางการปฏิบัติ และใครบ้างที่จะมากู้ร่วมกับคุณได้ ไปหาคำตอบพร้อมๆ กันเลย
การกู้ร่วมคืออะไร?
การกู้ร่วม คือ การทำสัญญายื่นกู้สินเชื่อก้อนเดียวกัน เพื่อให้ธนาคารเห็นว่าผู้กู้มีศักยภาพที่จะชำระหนี้ก้อนนั้นได้ตามกำหนด ทำให้โอกาสในการอนุมัติสินเชื่อพร้อมวงเงินกู้เป็นไปได้สูงขึ้น โดยการกู้ร่วมนี้จะทำให้ผู้กู้หลัก และผู้กู้ร่วมนั้น มีสถานะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน
การใส่ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน สามารถทำได้ทั้งใส่ชื่อผู้กู้คนใดคนหนึ่ง หรือจะใส่ชื่อของผู้กู้ทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันได้
กู้ร่วมทำได้สูงสุดกี่คน?
การกู้ร่วมประกอบไปด้วยผู้กู้หลัก 1 คน ส่วนผู้กู้ร่วมจะมีกี่คนนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร แต่สูงสุดจะมีได้ไม่เกิน 3 คน ในสัญญากู้เดียวกัน
ใครมีสิทธิ์กู้ร่วมได้บ้าง?
• บิดา มารดา
• พี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกัน หากเป็นคนละนามสกุลต้องแสดงเอกสารที่ระบุว่ามีบิดามารดาคนเดียวกัน เช่น สูติบัตร หรือทะเบียนบ้าน
• สามีภรรยา หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสต้องมีหลักฐานยืนยันว่าเป็นสามีภรรยาจริง เช่น ภาพหรือเอกสารเกี่ยวกับการจัดงานแต่งงาน
• เครือญาติที่มีนามสกุลเดียวกัน
• ชาวต่างชาติที่จดทะเบียนสมรสกับคนไทย จะกู้ร่วมได้เฉพาะการซื้ออาคารชุดหรือคอนโดเท่านั้น แต่การถือครองสิทธิ์ต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด
ประโยชน์ของการกู้ร่วม
• ทำให้การขออนุมัติสินเชื่อเป็นไปได้ง่ายขึ้น และความสามารถในการชำระหนี้ดูน่าเชื่อถือขึ้น
• ฐานรายได้ที่ใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสได้วงเงินที่สูงขึ้น
• ผู้กู้ไม่ต้องแบกรับภาระหนี้เพียงคนเดียว และมีคนมาร่วมแชร์หนี้ด้วย
8 เรื่องต้องรู้เมื่อคิดกู้ร่วม
1. ผู้กู้ร่วมต้องเป็นบุคคลที่มีสายเลือดเดียวกัน เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ หรือคู่สมรส หากเป็นพี่น้องแต่คนละนามสกุลต้องมีหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ (พี่น้องต่างนามสกุลจะกู้ร่วมได้ขึ้นอยู่กับธนาคารแต่ละแห่งพิจารณา)
2. ผู้กู้ร่วมต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าที่ธนาคารกำหนด และไม่ควรมีหนี้สินมากเกินกว่าความสามารถที่จะผ่อนชำระหนี้ได้ และไม่มีประวัติการผิดนัดชำระหนี้
3. เมื่อทำสัญญากู้ร่วมกันแล้ว ถือเป็นลูกหนี้ร่วมที่มีหน้าที่ชำระหนี้ร่วมกัน แต่ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถตกลงเรื่องการผ่อนจ่ายกันเองได้
4. หากผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารสามารถเรียกเก็บหนี้คืนจากผู้กู้คนใดก็ได้ หรือหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ อีกฝ่ายต้องรับภาระหนี้แทน
5. ผู้กู้สามารถตกลงกันได้ว่าใครจะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน หรือจะถือครองร่วมกันก็ได้ แต่หากจะยกให้ผู้อื่น ต้องระบุไว้ในฟอร์มการขอสินเชื่อตั้งแต่ตอนทำสัญญา
6. ผู้กู้ร่วมจะใช้สิทธิ์การลดหย่อนภาษีโดยหารเฉลี่ยกัน เพราะการซื้อบ้านจะมีดอกเบี้ยการซื้อที่อยู่อาศัยที่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งหากมีการกู้ร่วมกันก็ต้องการเฉลี่ยกันตามจำนวนผู้กู้
7. หากจะถอนชื่อผู้กู้ร่วม ต้องได้รับการพิจารณาจากธนาคารว่าผู้กู้ที่เหลือสามารถชำระหนี้ไหว หรือเมื่อใกล้หมดสัญญาแล้ว แต่หากธนาคารประเมินว่าผู้กู้ที่เหลือไม่สามารถผ่อนชำระคนเดียวไหว ก็ต้องหาผู้อื่นมาเป็นผู้กู้ร่วมแทน
8. หากผู้กู้ร่วมเสียชีวิต ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้เสียชีวิตจะรับช่วงผ่อนชำระหนี้ต่อ แต่ทั้งนี้ต้องผ่านการประเมินจากธนาคารแล้วว่าสามารถชำระหนี้ได้
การกู้ร่วม มีข้อดีที่จะเป็นทางเลือกในการเพิ่มความน่าเชื่อถือเมื่อขอสินเชื่อได้ แต่ในขณะเดียวกันก่อนคิดจะกู้ร่วมกับใครก็ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ และมั่นใจว่าบุคคลนั้นมีความสามารถในการที่จะจ่ายหนี้ร่วมกับเราได้จนกว่าจะหมดภาระ และไม่ทิ้งไปกลางคัน เพราะนั่นอาจตามมาด้วยปัญหาต่างๆ