รู้หรือไม่? ผู้กู้ร่วม เท่ากับ เป็นลูกหนี้ร่วม

รู้หรือไม่? ผู้กู้ร่วม เท่ากับ เป็นลูกหนี้ร่วม 

การทำสัญญากู้ ถือเป็นข้อผูกมัดกันทั้งผู้ให้กู้ที่เป็นสถาบันการเงินและผู้กู้เอง และยิ่งเป็นการกู้ที่มีมูลค่ามากเพื่อซื้อ บ้าน อาคารพาณิชย์ หรือที่ดิน ก็มักมีผู้กู้ร่วมเพิ่มเข้ามาเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ทางธนาคารเห็นว่ามีอีกคนช่วยรับผิดชอบหนี้ ดังนั้นก่อนตัดสินใจกู้ร่วมกับใคร ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อป้องกันการมีหนี้ติดตัวโดยไม่รู้อะไรเลย

การกู้ร่วมคืออะไร? 

การกู้ร่วม คือ การที่ผู้กู้ทำสัญญายื่นกู้สินเชื่อก้อนเดียวกัน เพื่อให้ธนาคารเห็นว่าผู้กู้มีศักยภาพพอที่จะชำระหนี้ก้อนนั้นได้ตามกำหนด ทำให้โอกาสในการอนุมัติสินเชื่อเป็นไปได้สูงขึ้น โดยการกู้ร่วมนี้จะทำให้ผู้กู้หลัก และผู้กู้ร่วมนั้น มีสถานะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน

***การใส่ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน สามารถใส่ชื่อผู้กู้ทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน หรือจะใส่ชื่อผู้กู้คนใดคนหนึ่งก็ได้

ใครกู้ร่วมได้บ้าง?

1. ผู้ที่มีนามสกุลเดียวกัน เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก

2. พี่น้องท้องเดียวกัน แม้จะคนละนามสกุลก็สามารถกู้ร่วมได้ โดยต้องแสดงทะเบียนบ้านหรือสูติบัตรระบุว่ามีพ่อแม่คนเดียวกัน

3. สามีภรรยา แม้จะไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็กู้ร่วมกันได้ แต่ต้องแสดงหลักฐานการเป็นสามีภรรยากัน เช่น ภาพถ่ายหรือการ์ดงานแต่งงาน หรือหนังสือรับรองบุตร

รู้หรือไม่? ผู้กู้ร่วม เท่ากับ เป็นลูกหนี้ร่วม

เมื่อมีเหตุไม่คาดคิด ไม่ว่าจะจากสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้ผู้กู้ หรือผู้กู้ร่วม ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญากู้ ธนาคารสามารถฟ้องร้องเพื่อนเรียกเงินคืนจากผู้กู้ร่วมได้โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องผู้กู้ เพราะถือว่าเป็นลูกหนี้ร่วม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 3 ลูกหนี้และเจ้าหนี้หลายคน

•  มาตรา 291 ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือกแต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง

สรุปสาระสำคัญ เมื่อทำสัญญากู้ร่วมกันแล้วถือเป็นลูกหนี้ร่วม

1. เจ้าหนี้มีสิทธิ์เรียกร้องลูกหนี้ร่วมคนใดคนหนึ่งจากบรรดาลูกหนี้ร่วมทั้งหมด ให้ชำระหนี้ทั้งหมดแต่เพียงคนเดียว หรือเลือกให้แต่ละคนชำระหนี้เพียงบางส่วนก็ได้

2. ตราบใดที่หนี้ยังไม่ถูกชำระหนี้ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง ลูกหนี้ร่วมทั้งหมดยังคงต้องร่วมกันรับผิดต่อเจ้าหนี้

3. ลูกหนี้ร่วมทุกคนจะอ้างว่าตนชำระหนี้ไปแล้วตามที่เจ้าหนี้เรียกร้อง แล้วจะไม่ชำระหนี้ส่วนที่เหลืออีก หรือให้เจ้าหนี้ไปเรียกร้องจากลูกหนี้ร่วมคนอื่นแทนไม่ได้

4. บทบัญญัตินี้เป็นเพียงบัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้ทั้งหลาย (ฝ่ายหนึ่ง) กับเจ้าหนี้ (ฝ่ายหนึ่ง) ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้ด้วยกันเองนั้นอาจแตกต่างออกไป

ข้อดีของการกู้ร่วม

1. การขออนุมัติสินเชื่อเป็นไปได้ง่ายขึ้น เพราะความสามารถในการชำระหนี้ดูน่าเชื่อถือ

2. ฐานรายได้ที่ใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสได้วงเงินสูงขึ้นตามไปด้วย

3. มีคนมาร่วมแชร์หนี้ด้วย ทำให้ไม่ต้องแบกรับภาระหนี้เพียงคนเดียว

4. มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นเดียวกับผู้กู้หลัก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1357 ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของร่วมกันมีส่วนเท่ากัน

5. ตามมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร การกู้ร่วมซื้ออสังหาริมทรัพย์ สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้นั้นหักลดหย่อนภาษีได้ โดยสิทธิ์การลดหย่อนภาษีจะถูกหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ร่วม

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรับผิดชอบเป็นลูกหนี้ร่วมกับใคร แม้แต่คนในครอบครัว พ่อ แม่ พี่ น้อง ก็อาจแตกคอกันได้เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นก่อนทำสัญญาใดๆ ธรรมนิติ อยากชวนให้ฉุกคิดวิเคราะห์และศึกษาข้อดีข้อเสียให้เข้าใจ ที่สำคัญคือควรเตรียมทางออกเมื่อเจอปัญหา เพราะมีจำนวนไม่น้อยที่ตกลงไม่ได้จนต้องใช้ข้อกฎหมายในการช่วยเจรจา ยิ่งสัญญามีมูลค่าและอายุสัญญายาวนาน ยิ่งต้องระวังก่อนตัดสินใจลงนามในสัญญารับสถานะหนี้

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

กระทรวงยุติธรรม

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?