เมื่อโรคไตถามหา … ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมอย่างไรบ้าง?

05 กันยายน 2562

“โรคไต”

เป็นโรคที่ผู้ป่วยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก แต่สำหรับท่านใดที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมและมีสถานะเป็นผู้ประกันตน จะได้รับคุ้มครอง ในกรณีที่ป่วยเป็นโรคไตด้วย

สำนักงานประกันสังคม

เริ่มให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมาตั้งแต่ปี 2542 โดยปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคมได้ให้ความคุ้มครอง แก่ผู้ประกันตนด้วยการบำบัดทดแทนไต ซึ่งประกอบด้วย

– การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

ในอัตราไม่เกิน 1,500 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 4,500 บาท ต่อสัปดาห์ (สำหรับผู้ประกันตนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ก่อนการเป็นผู้ประกันตน จะมีสิทธิฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ในอัตราไม่เกิน 1,000 บาท ต่อครั้ง และไม่เกิน 3,000 บาท ต่อสัปดาห์) และค่าเตรียมเส้นเลือดสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม พร้อมอุปกรณ์ในอัตราไม่เกิน 20,000 บาท ต่อรายต่อ 2 ปี

– การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างถาวร

ในอัตราไม่เกิน 20,000 บาท ต่อเดือน ค่าผ่าตัดวางท่อรับส่งน้ำยาเข้าออกทางช่องท้อง พร้อมอุปกรณ์ในอัตราไม่เกิน 20,000 บาท ต่อรายต่อ 2 ปี

– การปลูกถ่ายไต

เป็นค่าใช้จ่ายก่อนการผ่าตัดในอัตราไม่เกิน 30,000 บาท ค่าใช้จ่ายส่วนเกินอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ประกันตน

– ค่าใช้จ่ายระหว่างผ่าตัดปลูกถ่ายไต

เหมาจ่ายในอัตรา 230,000 บาท

– ค่ายากดภูมิคุ้มกันภายหลังการผ่าตัดในปีแรก

เหมาจ่ายเดือนที่ 1-6 เดือนละ 30,000 บาท เดือนที่ 7-12 เดือนละ 20,000 บาท ปีที่ 2 เหมาจ่ายเดือนละ 15,000 บาท และตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป เหมาจ่ายในอัตรา 10,000 บาทต่อเดือน

– ค่ายา Erythropoietin

ตามระดับความเข้มข้นของโลหิต ตั้งแต่สัปดาห์ละ 375 บาท (ขนาดไม่น้อยกว่า 2,000 IU) และ 750 บาท (ขนาดไม่น้อยกว่า 4,000 IU)

ผู้ประกันตนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่มีสิทธิรับบริการทางการแพทย์โดยการบำบัดทดแทนไต ต้องเป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่มีหน้าที่การทำงานของไตเสียไปอย่างถาวร เกินกว่าร้อยละ 95 โดยใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจากผลเลือด ผลปัสสาวะและขนาดของไต ยกเว้นกรณีปลูกถ่ายไตต้องไม่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมาก่อนการเป็นผู้ประกันตนคราวที่ยื่นขอใช้สิทธิ ซึ่งในการพิจารณาอนุมัติสิทธิฯ แต่ละครั้งเป็นไปด้วยความรอบคอบ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการแพทย์หรือผู้ที่คณะกรรมการการแพทย์มอบหมายก่อนทุกราย โดยผู้ประกันตนสามารถยื่นคำขอรับสิทธิการบำบัดทดแทนไตต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดที่ท่านประสงค์จะใช้สิทธิ

 

การบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการล้างช่องท้องด้วยน้ำยาถาวรนั้น มีสถานพยาบาล ที่ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลบำบัดทดแทนไตกับสำนักงานประกันสังคม จำนวน 44 แห่ง(ข้อมูลถึงเดือน ก.ย.2553 )

 

ส่วนสถานพยาบาลที่ให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ในความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศจำนวน 351 แห่ง ( ข้อมูลถึงเดือน ก.ย.2553 )

 

ด้านการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยต้องได้รับการอนุมัติและจัดสถานพยาบาลที่จะทำการปลูกถ่ายไตให้ก่อนที่จะทำการผ่าตัด โดยสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกรณีปลูกถ่ายไตกับ สปส. ในปัจจุบันมีจำนวน 14 แห่ง ได้แก่ 1.โรงพยาบาลรามาธิบดี 2.โรงพยาบาลศิริราช 3.โรงพยาบาล ราชวิถี 4.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 5.โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 6.โรงพยาบาลตำรวจ 7.โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช 8.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ9.โรงพยาบาลชลบุรี 10.โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 11.โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น 12.วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล 13.โรงพยาบาลสงขลา และ 14.โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก

อย่างไรก็ตามการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้ห่างไกลจากโรค นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ

ศูนย์สารนิเทศ สายด่วนประกันสังคม 1506 www.sso.go.th

——

แหล่งที่มา : www.jobdst.com

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?