การเปิด “รับบริจาค” หรือ “เรี่ยไร” อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 ซึ่งระบุไว้ใน มาตรา 4 ว่า “การเรี่ยไร” คือ การซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการ เพื่อรวบรวมทรัพย์สินที่ได้ไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง
การขออนุญาต
การขออนุญาตทำการเรี่ยไร ในที่สาธารณะ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อโทรทัศน์ ในพื้นที่กทม. ต้องได้รับอนุญาตจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ส่วนต่างจังหวัดติดต่อได้ที่ที่ว่าการอำเภอ ผู้ขออนุญาตต้องมีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ ไม่มีจิตฟั่นเฟือน ไม่มีโรคติดต่อ และไม่เคยต้องโทษฐานหลักทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์ หรือรับของโจร (มาตรา 11 พ.ร.บ. ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487)
• ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการเรี่ยไร
• กำหนดวิธีการที่จะทำการเรี่ยไร
• ระบุจำนวนเงินที่ต้องการเรี่ยไร
• ระบุสถานที่ทำการเรี่ยไร
• กำหนดระยะเวลาอย่างชัดเจน
• ห้ามเดินขอเรี่ยไรตามทางสาธารณะ หรือนอกเหนือจากที่ขออนุญาตไว้
ใบอนุญาตมี 2 แบบ ดังนี้
ประเภท ร.3 เป็นใบอนุญาตที่จัดให้มีการเรี่ยไร โดยหัวหน้าหน่วยหรือประธานมูลนิธิเป็นคนขอ ในใบจะระบุวัตถุประสงค์ของการเรี่ยไร จำนวนเงินที่จะเรี่ยไร วิธีทำการเรี่ยไร วันเวลาที่อนุญาตให้ทำการเรี่ยไรและวันหมดอายุ เป็นต้น
ประเภท ร.4 เป็นใบอนุญาตให้ทำการเรี่ยไร ระบุรายละเอียดที่อนุญาตให้ทำการเรี่ยไร
ห้ามไม่ให้จัดให้มีการเรี่ยไร ต่อไปนี้ (มาตรา 5 พ.ร.บ. ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487)
1. เรี่ยไรเพื่อรวบรวมทรัพย์สินมาให้หรือชดใช้แก่จำเลย เพื่อใช้เป็นค่าปรับ ยกเว้นการเรี่ยไรในระหว่างญาติของจำเลย
2. การเรี่ยไรโดยกำหนดเก็บเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นอัตราโดยคำนวณตามเกณฑ์ปริมาณสินค้า ผลประโยชน์ หรือวัตถุอย่างอื่น
3. การเรี่ยไรอันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมทรามแก่ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
4. การเรี่ยไรอันอาจเป็นเหตุกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงถึงทางสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ
5. การเรี่ยไรเพื่อจัดหายุทธภัณฑ์ให้แก่ต่างประเทศ
บทลงโทษ หากฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 17)
ข้อกำหนดในการเรี่ยไร
1. มาตรา 12 พ.ร.บ. ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487
ผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการเรี่ยไรต้องมีใบอนุญาตติดตัวอยู่ในขณะทำการเรี่ยไร เมื่อเจ้าหน้าที่ต้องการตรวจดู ต้องพร้อมแสดงเสมอ
บทลงโทษ หากฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท (มาตรา 18)
2. มาตรา 13 พ.ร.บ. ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487
ในการรับเงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้ ต้องออกใบรับให้แก่ผู้บริจาคกับมีต้นขั้ว ใบรับไว้เป็นหลักฐาน และต้องประกาศยอดรับจ่ายเงิน และทรัพย์สินให้สาธารณะชนทราบตามสมควร และเมื่อได้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินนั้นหมดไปแล้ว ให้ประกาศยอดบัญชีอีกครั้ง
บทลงโทษ หากฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 19)
3. มาตรา 14 พ.ร.บ. ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487
ห้ามจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้ ในกิจการอื่น นอกวัตถุประสงค์ตามที่ได้แสดงไว้
บทลงโทษ หากฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 19)
4. มาตรา 15 พ.ร.บ. ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487
เงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้ ถ้าไม่อาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์ตามที่ได้แสดงไว้ หรือเหลือจ่าย ให้ผู้จัดรายงาน แก่คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรทราบ และให้เจ้าหน้าที่ ที่มีอำนาจสั่งให้ส่งเงิน หรือทรัพย์สินดังกล่าว ไปประกอบการกุศลหรือสาธารณประโยชน์ตามสมควร
บทลงโทษ หากฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 19)
5. มาตรา 16 พ.ร.บ. ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487
ในการเรี่ยไรห้ามใช้ถ้อยคำหรือวิธีการใด ๆ ซึ่งเป็นการบังคับผู้ถูกเรี่ยไร หรือซึ่งจะทำให้ผู้ถูกเรี่ยไรเกิดความหวาดหวั่น หรือเกรงกลัว
บทลงโทษ หากฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 20)