23 กุมภาพันธ์ 2565
พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์
หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์” มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2557
ถึงแม้จะมีการบังคับใช้มาเป็นเวลาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ปัญหาการทำร้ายสัตว์ หรือทารุณกรรมสัตว์ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และหนักมากขึ้น
การทารุณกรรมสัตว์ เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำเพราะนอกจากจะเป็นเรื่องคุณธรรมแล้ว ยังผิดกฎหมายอีกด้วย
คำนิยามใน พ.ร.บ. นี้
สัตว์
• สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้รวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติด้
การทารุณกรรม
• การกระทําหรืองดเว้นการกระทําใด ๆ ที่ทําให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ทุพพลภาพ หรือมีผลทําให้สัตว์นั้นตาย และการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชรา หรือสัตว์ที่กําลังตั้งท้อง เพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทํางานจนเกินสมควร
การจัดสวัสดิภาพสัตว์
• การเลี้ยงหรือการดูแลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะ ที่เหมาะสมมีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ
การป้องกันการทารุณกรรมสัตว์
มาตรา 20
ห้ามมิให้ผู้ใดกระทําการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร
มีเหตุอันสมควร
นาย A เห็น เจ้าตูบ กำลังจะกัดน้อง Bนาย A จึงใช้ไม้ตีเจ้าตูบ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้น้อง B โดนเจ้าตูบกัด เหตุการณ์นี้ถือว่ามีเหตุอันสมควรในการกระทำ
ไม่มีเหตุอันสมควร
นาย A รู้มาว่า น้อง B ถูกเจ้าตูบกัดเมื่อเดือนที่แล้ว นาย A บังเอิญไปเจอเจ้าตูบเดินอยู่ริมถนน จึงถือโอกาส ใช้ไม้ตีเจ้าตูบจนตาย เพราะเจ้าตูบเคยกัดน้อง B เหตุการณ์นี้ถือว่าไม่มีเหตุอันสมควรในการกระทำ เพราะเหตุอันสมควรได้เกิดขึ้นไปแล้ว
โทษหากฝ่าฝืน
จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 31)
11 ข้อ ไม่เข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์
การกระทําดังต่อไปนี้ ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ตามมาตรา 20
1.การฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร (เฉพาะสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร)
2.การฆ่าสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจําหน่ายเนื้อสัตว์
3.การฆ่าตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
4.การฆ่าสัตว์ในกรณีที่สัตวแพทย์เห็นว่าสัตว์ป่วย พิการ หรือบาดเจ็บ และไม่สามารถรักษาให้มีชีวิตอยู่รอดได้โดยไม่ทุกข์ทรมาน
5.การฆ่าสัตว์ตามพิธีกรรมหรือความเชื่อทางศาสนา
6.จำเป็นต้องฆ่าเพื่อความปลอดภัยของคน หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันทรัพย์สินเสียหาย
7.การกระทําใด ๆ ที่เป็นการประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์
8.การตัด หู หาง ขน เขา หรืองาโดยมีเหตุอันสมควรและไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ หรือการดํารงชีวิตของสัตว์
9.การจัดให้สัตว์ต่อสู้ตามประเพณีท้องถิ่น
10.การกระทําอื่นใดที่มีกฎหมายกําหนดให้สามารถกระทําได้เป็นการเฉพาะ
11.การกระทําอื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ
กฎหมายเกี่ยวกับเจ้าของสัตว์
มาตรา 22
เจ้าของสัตว์ต้องดําเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม ให้สัตว์มีที่อยู่มีอาหาร มีน้ำ เหมาะสมตามชนิด ลักษณะ สภาพ และอายุของสัตว์
มาตรา 23
ห้ามเจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทําการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลโดยไม่มีเหตุอันสมควร ยกเว้นการโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้อื่นดูแลแทน
มาตรา 24
การขนส่ง การย้ายสัตว์ ต้องทำให้เหมาะสม ตามชนิด ลักษณะ สภาพ และอายุของสัตว์
โทษหากฝ่าฝืน
ปรับไม่เกิน 40,000 บาท (มาตรา 32)