15 เมษายน 2563
เพื่อเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนของ SMEs ครม.จึงเห็นชอบมาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการด้านการเงินเพื่อสนับสนุน SMEs และเห็นชอบมาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียม พร้อมทั้งเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา ร่างกฎกระทรวง และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
สำหรับมาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย มีรายละเอียดดังนี้
1. กลุ่ม SMEs ที่ต้องการสภาพคล่อง ประกอบด้วย 3 โครงการ ดังนี้
1.1 โครงการ บสย. SMEs สร้างไทย ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยปรับปรุงวัตถุประสงค์และคุณสมบัติ SMEs ของโครงการ PGS 8 ให้ บสย. สามารถค้ำประกันกับลูกหนี้ที่มีศักยภาพแต่มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) แต่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว และต้องได้รับอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ โดยให้รวมถึงสินเชื่อ Re-finance เพื่อสนับสนุนให้ SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดสภาพคล่องให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
1.2 โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง (Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) ของธนาคารออมสิน มีวงเงินคงเหลือ 15,000 ล้านบาท โดยปรับปรุงคุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ และวัตถุประสงค์โครงการ โดยให้รวมถึงธุรกิจที่เป็น Supply Chain และธุรกิจอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มธุรกิจ 10 S-Curve และสามารถให้สินเชื่อกับลูกหนี้ที่เป็น NPLs แต่มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และให้เพิ่มเติมวัตถุประสงค์ให้ครอบคลุมถึงการขอสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนอย่างเดียวได้ โดยธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการอัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการคิดดอกเบี้ยกับ SMEs ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี
1.3 โครงการ GSB SMEs Extra Liquidity ของธนาคารออมสิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผ่อนปรนภาระการจ่ายเงินต้นและเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ วงเงินโครงการ 50,000 ล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดี (Minimum Loan Rate : MLR) ลบร้อยละ 1 (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารออมสินอยู่ที่ร้อยละ 6.375 ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 6 ปี (ระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น 1 ปี) ทั้งนี้ ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นที่มีความพร้อมพิจารณาดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันเพื่อเป็นการลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจให้แก่ SMEs ได้กว้างขวางมากขึ้น
- กลุ่มSMEs ที่กำลังจะถูกฟ้อง
โครงการ PGS 5 ถึง PGS 7 เพื่อเป็นการช่วยเหลือ SMEs ที่กำลังจะถูกฟ้องในโครงการดังกล่าว จึงเห็นควรให้ขยายระยะเวลาการค้ำประกันในโครงการ PGS 5 ถึง PGS 7 ออกไปอีก 5 ปี รวมถึงยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยเมื่อสถาบันการเงินดำเนินคดีกับ SMEs โดยให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างนี้แก่ SMEs เพื่อให้ SMEs สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้ บสย. กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าประกันชดเชยให้เหมาะสมในส่วนที่ขยายระยะเวลา โดยให้ บสย. บริหารจัดการให้ค่าประกันชดเชยอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว - กลุ่มSMEs ที่มีศักยภาพปัจจุบันมีมาตรการด้านการเงินเพื่อสนับสนุน SMEs ทั้งโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนและโครงการค้ำประกันสินเชื่อ สรุปรายละเอียดได้ ดังนี้
3.1 โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุน สสว. โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้พิจารณาสินเชื่อ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 วงเงินคงเหลือ 5,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี
3.2 โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ของ ธพว. โดย ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2562 มีวงเงินคงเหลือ 20,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3 ต่อปี ใน 3 ปีแรก พร้อมทั้งปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายให้สามารถให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้ SMEs ที่เป็น NPLs และมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วได้ด้วย
3.3 โครงการสินเชื่อ SME ประชารัฐสร้างไทย ของธนาคารออมสิน โดย ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2562 มีวงเงินคงเหลือ 45,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ใน 2 ปีแรก โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี ทั้งนี้ ให้ธนาคารออมสินเร่งประชาสัมพันธ์โครงการและเร่งรัดกระบวนการพิจารณาสินเชื่อเพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้แก่ SMEs
3.4 โครงการสินเชื่อ กรุงไทย SME ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธ.กรุงไทย) โดยเพิ่มวงเงินสินเชื่ออีก 10,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 4 ต่อปี โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี ทั้งนี้ ให้ ธ.กรุงไทย เร่งประชาสัมพันธ์โครงการและเร่งรัดกระบวนการพิจารณาสินเชื่อเพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้แก่ SMEs
3.5 โครงการ PGS 8 ของ บสย. ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 สำหรับวงเงินค้ำประกันคงเหลือ บสย. จะจ่ายค่าประกันชดเชยให้กับสถาบันการเงินโดยสถาบันการเงินไม่ต้องดำเนินคดีกับ SMEs ก่อน เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แทนการฟ้องดำเนินคดี สำหรับกรณีประนอมหนี้กับ บสย. ให้ บสย. สามารถพิจารณาลดต้นเงินค่าประกันชดเชยในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการชำระหนี้ได้ โดยให้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ บสย. นอกจากนี้ ยังขยายการค้ำประกันสินเชื่อให้ครอบคลุมถึงธุรกรรมการให้เช่าซื้อ ธุรกรรมการให้เช่าแบบลิสซิ่ง และธุรกรรมแฟ็กเตอริง
3.6 โครงการ Direct Guarantee ของ บสย. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกลุ่มลูกค้า SMEs เป้าหมาย เช่น ลูกค้าเดิมของ บสย. ลูกค้าในธุรกิจที่มี NPLs ต่ำ เป็นต้น วงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน โดย บสย. เป็นผู้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามระดับความเสี่ยงของลูกค้า (Risk Based Pricing) ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี
4. มาตรการอื่น ๆ
4.1 ขอความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการพิจารณาแนวทางการกันสำรองที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะ Preemptive TDR และกรณีปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่เป็น NPLs และมีการอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติม ทั้งของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
4.2 ขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์กำหนดเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมถึงพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ลดดอกเบี้ยเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
4.3 มาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียม
กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรเสนอมาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (มาตรการทางภาษีฯ) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ทั้งนี้ เฉพาะการปลดหนี้ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
2) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้อื่น สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า การให้บริการ และการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้อื่น ทั้งนี้ เฉพาะการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า การให้บริการ และการกระทำตราสารระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
3) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินนำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินและการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว โดยลูกหนี้ของสถาบันการเงินต้องนำเงินได้นั้นไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระอยู่กับสถาบันการเงินหรือมีภาระผูกพันตามสัญญาประกันหนี้กับสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดและเฉพาะการโอนอสังหาริมทรัพย์และการกระทำตราสารระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
4) ยกเว้นให้การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อื่นในส่วนของหนี้ที่ปลดให้แก่ลูกหนี้ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ที่กรมสรรพากรกำหนด
5) ให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดทั้งหมดในอาคารชุดซึ่งจดทะเบียนอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรือห้องชุดในอาคารชุดซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ร้อยละ 0.01 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 สำหรับกรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้
(1) กรณีลูกหนี้ของสถาบันการเงินโอนอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดเพื่อชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงิน หรือลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นโอนอสังหาริมทรัพย์ หรือห้องชุดเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่น
(2) กรณีสถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้อื่นโอนอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดที่ได้รับโอนมาตาม (1) ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินหรือลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น
(3) กรณีการจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดระหว่างลูกหนี้ของสถาบันการเงินกับเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินหรือระหว่างลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่นกับเจ้าหนี้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดซึ่งเป็นหลักประกันอยู่เดิมหรืออสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดซึ่งนำมาเป็นหลักประกันใหม่
(4) กรณีลูกหนี้ของสถาบันการเงินโอนอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินนำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินที่ได้จากการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดนั้นไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุด ร้อยละ 0.01 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ตาม (4) สำหรับจำนวนเงินที่นำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน และให้เรียกเก็บตามอัตราปกติสำหรับราคาประเมินทุนทรัพย์ส่วนที่เกินจำนวนเงินที่นำไปชำระหนี้ดังกล่าว
ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/25649