“โรคใคร่เด็ก” ความผิดปกติที่นำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ กฎหมายกำหนดโทษไว้อย่างไรบ้าง ?
“โรคใคร่เด็ก”
หรือ (Pedophilia) หรืออาการผิดปกติทางจิตที่แสดงออกว่าชอบหรือรักเด็กที่เกินขอบเขต จนนำไปสู่การนำเด็กมาเป็นเหยื่อบำบัดความใคร่ทางเพศ ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดโทษและลงโทษโดยคำนึงถึงความผิดปกติทางจิต ดังนั้น “โรคใคร่เด็ก” อาจไม่เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชผู้ทำความผิด จึงมีความผิดและรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา
รูปแบบของการกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก
1. การกระทำความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก
• การครอบครอง/การส่งต่อ/การเผยแพร่ วัตถุ หรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นการกระทำทางเพศของเด็กหรือกับเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี เช่น รูปภาพ ภาพเขียน ภาพพิมพ์ แถบบันทึกเสียง รวมถึงสิ่งที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศ
2. การกระทำความผิดฐานอนาจารเด็ก
• การกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อร่างกายผู้อื่น เช่น การสัมผัสจับต้องเนื้อตัวร่างกาย การลวนลามร่างกายในทางไม่สมควร และการกระทำ ให้อับอายขายหน้าในทางเพศ
3. การกระทำความผิดฐานกระทำชำเรา
• การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม
บทลงโทษตามกฎหมายอาญา
1. การกระทำความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก
• ครอบครอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 287/1)
• ส่งต่อสื่อลามก มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 287/1)
• เผยแพร่สื่อลามก มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 200,000 บาท (มาตรา 287/2)
2. การกระทำความผิดฐานอนาจารเด็ก
• เด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีโทษจำคุก 1 – 10 ปี หรือปรับ 10,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 279)
• เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีโทษจำคุก ไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 279)
3. การกระทำความผิดฐานกระทำชำเรา
• เด็กอายุไม่เกิน 13 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีโทษจำคุก 7 – 20 ปี และปรับ 140,000 – 400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต (มาตรา 277)
• เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีโทษจำคุก 5 – 20 ปี และปรับ 100,000 – 400,000 บาท (มาตรา 277)
บทลงโทษผู้ป่วยทางจิตเวชที่ทำผิด
1. ยกเว้นโทษ / ลดโทษ
• กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบชั่วดี / ไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีอาการจิตบกพร่อง เป็นผู้ป่วยจิตเวช หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่ต้องรับโทษ
• ถ้าพิสูจน์แล้วว่าผู้กระทำผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือ ยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง อาจรับโทษน้อยลง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
2. มีเหตุให้บรรเทาโทษ
• โง่เขลา เบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์สาหัส
• มีคุณความดีมาก่อน
• รู้สึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายในความผิด
• ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา
• สารภาพความผิดต่อเจ้าพนักงาน