15 เมษายน 2563
ก่อนกฎหมายคุ้มครองส่วนบุคคลใช้บังคับ … นายจ้างควรจัดการกับข้อมูลของลูกจ้างอย่างไร
สำหรับลูกจ้างเก่าแล้ว นายจ้างยังสามารถที่จะเก็บข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวได้ต่อไปตามวัตถุประสงค์เดิมของตน แต่นายจ้างจะต้องดำเนินการ ดังนี้
- นายจ้างจะต้องกำหนดวิธีการยกเลิกความยินยอม เช่น นายจ้างอาจจัดทำแบบฟอร์มหรือบันทึกขึ้น เพื่อให้ลูกจ้างแสดงความประสงค์ต่อนายจ้าง เป็นต้น และ
- เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ลูกจ้างทราบถึงการยกเลิกความยินยอมตาม 1 โดยอาจจัดทำเป็นประกาศติดไว้ที่บอร์ดของนายจ้างหรือส่งอีเมล์ให้ลูกจ้างทุกคนทราบก็ได้
โปรดพิจารณาข้อกฎหมาย ดังนี้
“มาตรา 95 ข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลได้เก็บรวบรวมไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลสามารถเก็บรวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นต่อไปได้ตามวัตถุประสงค์เดิม ทั้งนี้ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องกำหนดวิธีการยกเลิกความยินยอมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ประสงค์ให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลเก็บรวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวสามารถยกเลิกความยินยอมได้โดยง่าย”
“ มาตรา 23 ในการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบก่อนหรือในขณะเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลถึงรายละเอียด ดังต่อไปนี้ เว้นแต่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ทราบถึงรายละเอียดนนั้นอยู่แล้ว
(1) วัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวมเพื่อการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้หรือเปิดเผย ซึ่งรวมถึงวัตถุประสงค์ตามที่มาตรา 24 ให้อำนาจในการเก็บรวบรวมได้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
(2) แจ้งให้ทราบถึงกรณีที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายหรือสัญญาหรือมีความจำเป็นต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อเข้าทำสัญญา รวมทั้งแจ้งถึงผลกระทบที่เป็นได้จากการไม่ให้ข้อมูลส่วนบุคคล
(3) ข้อมูลส่วนบุคคลที่จะมีการเก็บรวบรวมและระยะเวลาในการเก็บรวบรวมไว้ ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาดังกล่าวชัดเจน ให้กำหนดระยะเวลาที่อาจคาดหมายได้ตามมาตรฐานของการเก็บรวบรวม
(4) ประเภทของบุคคลหรือหน่วยงานซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บรวบรวมอาจจะถูกเปิดเผย
(5) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล สถานที่ติดต่อ และวิธีการติดต่อในกรณีที่มีตัวแทนหรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้แจ้งข้อมูล สถานที่ติดต่อ และวิธีการติดต่อของตัวแทนหรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย
(6) สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 19 วรรคห้า มาตรา 30 วรรคหนึ่ง มาตรา 31 วรรคหนึ่ง มาตรา 32 วรรคหนึ่ง มาตรา 33 วรรคหนึ่ง มาตรา 34 วรรคหนึ่ง มาตรา 36 วรรคหนึ่ง และมาตรา 73 วรรคหนึ่ง”
หากนายจ้างฝ่าฝืนไม่แจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงรายละเอียดการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของลูกจ้าง แม้กฎหมายจะไม่ได้กำหนดให้นายจ้างจะต้องรับโทษในทางอาญาก็ตาม แต่นายจ้างอาจจำต้องรับโทษทางปกครอง ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 1 ล้านบาท
กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ให้กับนายจ้างในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของลูกจ้างไว้หลายประการพร้อมกับบทลงโทษทั้งทางอาญาและทางปกครอง นายจ้างควรจะพิจารณาว่า เมื่อได้ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกจ้างเสร็จสิ้นแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บรวมรวมข้อมูลดังกล่าวไว้หรือไม่ อย่างไร เพราะหากไม่จำเป็นต้องใช้ นายจ้างก็ควรคืนข้อมูลส่วนบุคคลให้กับลูกจ้าง จะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย อีกทั้งไม่เป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ให้กับนายจ้างในการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของลูกจ้าง
ที่มา : บางส่วนจากบทความ : “กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับการจ้างแรงงาน (ตอนที่ 2)”
โดย : วรเศรษฐ์ เผือกสกนธ์ วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 204 เดือนธันวาคม 2562 สนใจสมัครสมาชิก คลิก