15 เมษายน 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว กองทุน SSF พร้อมมีการปรับหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน RMF
กองทุน SSF
กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม Super Savings Fund: SSF หรือ กองทุน SSF ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการออมระยะยาวรูปแบบใหม่ โดยให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน SSF ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ (กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเงินจ่ายเบี้ยประกันชีวิตสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี โดยกองทุนสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท
ทั้งนี้ผู้ซื้อกองทุน SSF สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ โดยไม่กำหนดจำนวนซื้อขั้นต่ำ ไม่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง
กองทุน RMF
ปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุน RMF ภายใต้วงเงินเดิมในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้
1.ปรับสัดส่วนการหักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF สูงสุด จากเดิมไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน เป็นร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน โดยยังคงกำหนดวงเงินหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ เงินจ่ายเบี้ยประกันชีวิตสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือกองทุน SSF) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนออมได้มากขึ้น และสอดคล้องกับแนวทางการปรับเพิ่มเงินสะสมของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอื่น
2.ยกเลิกการกำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF (จากเดิมกำหนดให้ซื้อจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้พึงประเมิน หรือมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยสามารถซื้อกองทุน RMF ได้ โดยยังคงกำหนดให้ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี และไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปี ติดต่อกันเช่นเดิม
ทั้งนี้การดำเนินการตามมาตรการข้างต้น กระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้โดยการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จำนวน 1 ฉบับ แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/24988