สายเปย์ต้องรู้! ทวงคืนทรัพย์สินที่ให้ผู้อื่นไปแล้วได้หรือไม่?

12 ตุลาคม 2565

อยากเป็นสายเปย์ทั้งที จะให้ของใครต้องดูให้ดี เช็กให้ละเอียดว่าคนคนนั้นเหมาะสมที่จะได้รับ และคุณเตรียมใจไว้แล้วว่าจะไม่ขอคืนภายหลัง เพราะไม่ว่าจะเปย์ไปด้วยความรักความเอ็นดู หรือเพราะหน้าที่ โดยการให้เงิน สิ่งของ หรือทรัพย์สิน หากวันหนึ่งที่จะขอคืนขึ้นมาก็มีบางกรณีที่สามารถขอคืนได้ และบางกรณีก็ไม่สามารถขอคืนได้ รายละเอียดเป็นอย่างไร ลองตามไปดูกัน

 

รู้จักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปย์ (ให้สิ่งของ เงิน ทรัพย์สิน) ผู้อื่น

ในที่นี้เราจะนำรายละเอียดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สิ่งของ เงิน หรือทรัพย์สินแก่ผู้อื่น ที่สามารถใช้อ้างอิงได้ว่าการเปย์แบบไหนจะสามารถขอคืนได้ และแบบไหนไม่สามารถขอคืนได้ โดยเป็น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีรายละเอียดตามมาตราต่างๆ ดังนี้

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531-536

มาตรา 531

อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้

1. ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาชญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา หรือ

2. ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ

3. ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้

มาตรา 532

ทายาทของผู้ให้อาจเรียกให้ถอนคืนการให้ได้แต่เฉพาะในเหตุที่ผู้รับได้ฆ่าผู้ให้ตายโดยเจตนาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้กีดกันผู้ให้ไว้มิให้ถอนคืนการให้

แต่ว่าผู้ให้ได้ฟ้องคดีไว้แล้วอย่างใดโดยชอบ ทายาทของผู้ให้จะว่าคดีอันนั้นต่อไปก็ได้

มาตรา 533

เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดี หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะถอนคืนการให้ได้ไม่

อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพันเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น

มาตรา 534

เมื่อถอนคืนการให้ ท่านให้ส่งคืนทรัพย์สินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยลาภมิควรได้

มาตรา 535

การให้อันจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ คือ

1. ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้

2. ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน

3. ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา

4. ให้ในการสมรส

มาตรา 536

การให้อันจะให้เป็นผลต่อเมื่อผู้ให้ตายนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทกฎหมายว่าด้วยมรดกและพินัยกรรม

 

สรุปผู้ให้ขอคืนการให้ได้หากผู้รับประพฤติเนรคุณ

ตามกรณีต่างๆ ดังนี้

1. ผู้รับประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญา

2. ผู้รับทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง

3. ผู้รับบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ในเวลาที่ยากไร้และผู้รับสามารถจะให้ได้

 

สรุปเหตุต่างๆ ที่ผู้ให้ไม่สามารถขอคืนการให้ได้

1. ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้

2. ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน

3. ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา

4. ให้ในการสมรส

5. ผู้ให้ ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณ

6. เวลาผ่านไปแล้ว 6 เดือน นับแต่ทราบเหตุประพฤติเนรคุณ

7. ผู้ให้ ฟ้องคดีหลัง 10 ปี นับแต่วันเกิดเหตุประพฤติเนรคุณ

*** ทั้งนี้ ทายาทของผู้ให้ สามารถถอนคืนการให้ได้ กรณีผู้รับฆ่าผู้ให้ตาย หรือกีดกันผู้ให้ไม่ให้ถอนคืนการให้ ตามมาตรา 532

 

อ้างอิงข้อมูล

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

สำนักงานกิจการยุติธรรม

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?