ค่าชดเชย เมื่อเลิกจ้าง

ค่าชดเชย

31 พฤษภาคม 2564

ค่าชดเชย (Severance Pay) หมายถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือไปจากเงินประเภทอื่น ซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง (พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5)

ค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง แม้ว่าสัญญาจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจะไม่ได้กำหนดไว้ก็ตาม ในกรณีที่นายจ้างนำเอาหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยมากำหนดไว้ในสัญญาจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างจะกำหนดให้ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ ข้อตกลงเช่นนี้จะตกเป็นโมฆะ(คำพิพากษาฎีกาที่ 2923/2524)

อย่างไรก็ดี ถ้านายจ้างตกลงจ่ายเงินประเภทอื่นนอกเหนือไปจากค่าชดเชยตามกฎหมาย นายจ้างจะกำหนดวิธีการจ่ายอย่างไรก็ได้ตามที่เห็นสมควร เช่น นายจ้างอาจมีระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จว่า ถ้าลูกจ้างได้รับค่าชดเชยเท่ากับหรือสูงกว่าเงินบำเหน็จ นายจ้างจะจ่ายเงินบำเหน็จเท่ากับจำนวนค่าชดเชย แต่ถ้าได้รับค่าชดเชยน้อยกว่าเงินบำเหน็จ นายจ้างก็จะจ่ายเงินบำเหน็จโดยถือว่าจ่ายค่าชดเชยไปด้วยแล้ว ในกรณีนี้เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างและนายจ้างจ่ายเงินบำเหน็จตามระเบียบ แม้จะเรียกว่าเงินบำเหน็จ ไม่ได้เรียกว่าค่าชดเชย ก็ถือได้ว่านายจ้างได้จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแล้ว




หลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชย

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้

1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี

ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่ำจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี

ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่ำจ้างของการทำงาน 90 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี

ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี

ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง อัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

5) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี

ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง อัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

6) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400

วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของกการทำงาน 400 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

 

ที่มา : จากบทความ  ค่าชดเชย (Severance Pay) โดย : พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 17 ฉบับที่ 203 เดือนพฤศจิกายน 2562 สนใจสมัครสมาชิก คลิก

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?