ครม.เห็นชอบลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ได้มีการเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ และให้บังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยได้ส่งผลกระทบแก่ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจทั่วประเทศ ดังนั้นกระทรวงการคลังและกระทรวงการคลังจึงได้มีการประชุมหารือและเห็นควรกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบโดยการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในอัตราร้อยละ 90 สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2563 (จากเดิมที่ต้องชำระภาษีภายในเดือนสิงหาคม) เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน
ทั้งนี้ได้มีการเห็นชอบพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ) และให้บังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
- เห็นชอบการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ) ให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากประกอบเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย และที่ทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2563
- เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ) ที่กำหนดให้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นไปตามนัยข้อ 5. 1) ร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ที่กำหนดให้ลดภาษีเฉพาะในปีภาษี พ.ศ. 2563
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
1. หลักการและสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ สรุปได้ ดังนี้
1) เนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ระบาดอย่างรุนแรงขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกและของประเทศไทยหดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วกระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพในวงกว้าง จึงสมควรลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะจัดเก็บตามกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม
2) ให้บังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
3) ให้ลดจำนวนภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ตามมาตรา 42 หรือมาตรา 95 แล้วแต่กรณี (หรือสำหรับการจัดเก็บภาษี พ.ศ. 2563) สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างดังต่อไปนี้
(1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
(2) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย
(3) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจาก (1) และ (2)
(4) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ
4) การลดภาษีข้างต้นไม่กระทบสิทธิในการบรรเทาภาระภาษีตามมาตรา 96 และมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ
5) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
2. ข้อเท็จจริง
1) พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ได้มีการประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562 และได้เริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ แล้ว โดยได้ทำการสำรวจ จัดทำบัญชีและประเมินภาษีตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ อปท. มีเวลาดำเนินการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น มท. จึงได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ขยายระยะเวลาดำเนินการของ อปท. เป็นการทั่วไปเป็นระยะเวลา 4 เดือนสำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี พ.ศ. 2563 จากเดิมที่ต้องชำระภาษีภายในเดือนเมษายนเป็นเดือนสิงหาคม
2) กฎหมายลำดับรองจำนวน 18 ฉบับตามที่ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ได้กำหนดให้จัดทำนั้น กค. และ มท. ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วจำนวน 18 ฉบับ โดยในจำนวนนี้เป็นพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ที่มีวัตถุประสงค์ในการลดภาษีเพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภทที่มีภาระภาษีเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นที่เกิดจากการนำหลักการภาษีทรัพย์สินมาใช้
3) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยได้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบแก่ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจทั่วประเทศ ดังนั้น กค. และ มท. จึงได้มีการประชุมหารือและเห็นควรกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบโดยการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และในการประชุมที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) จัดให้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ได้มีมติเห็นควรเสนอลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ที่กำหนดให้ลดภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภทเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่
4) ประมาณการการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปี 2563 คาดว่าจะจัดเก็บได้จำนวน 39,420 ล้านบาท และเมื่อมีการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของ อปท. ทั่วประเทศที่จะนำไปดำเนินภารกิจในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดีการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ อปท. จะเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการบรรเทาผลกระทบที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังได้ดำเนินการไปแล้ว
5) การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 ตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างได้รับการลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ โดยการคำนวณการลดภาษีข้างต้นเป็นไปตามตัวอย่าง ดังนี้
(1) กรณีที่ดินประกอบการเกษตร ถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา บทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ได้กำหนดให้ 3 ปีแรก (ปี 2563 – 2565) จะได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีแต่ถ้าเจ้าของเป็นนิติบุคคล สำหรับที่ดินมีมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 10 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราการใช้ประโยชน์ประกอบเกษตรกรรม ร้อยละ 0.01 คิดเป็นภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ที่เสนอแล้ว จะชำระภาษีเพียง 100 บาท
(2) กรณีที่อยู่อาศัย สำหรับบ้านหลังหลักที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดาและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท กรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน สำหรับบ้านหลังอื่น หากมูลค่าประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย ร้อยละ 0.02 คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ที่เสนอแล้ว จะชำระภาษีเพียง 100 บาท
(3) กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ประกอบการพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม มูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 4 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรารกร้างว่างเปล่า/อัตราการใช้ประโยชน์อื่น ร้อยละ 0.3 คิดเป็นค่าภาษี 12,000 บาท แต่เมื่อลดภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ที่เสนอแล้ว จะชำระภาษีเพียง 1,200 บาท เป็นต้น
ร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ เป็นการลดภาษีซึ่งจะต้องดำเนินการตามนัยบทบัญญัติมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ประมาณการรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปี 2563 จำนวน 39,420 ล้านบาท และในการเสนอลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 ตามร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ 2 กรณี จะสูญเสียรายได้ ดังนี้
1. กรณีที่ 1 กำหนดลดภาษีเฉพาะในปีภาษี พ.ศ. 2563 จะทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี พ.ศ. 2563 ลดลงประมาณ 35,450 ล้านบาท
2. กรณีที่ 2 ไม่กำหนดระยะเวลาในการลดภาษี จะทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดลงปีละประมาณ 35,450 ล้านบาท จนกว่าจะมีการออกกฎหมายยกเลิกร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ
ทั้งนี้การลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะช่วยบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจที่ขาดรายได้ เนื่องจากไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย
กค. พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา กค. ได้มีมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โครงการสินเชื่อเพื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีรายได้ดังเช่นปกติ ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความสามารถในการชำระภาษีในปีถัดไป ตลอดจนไม่เป็นการส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของ อปท. ในระยะยาวจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาดังกล่าว
ที่มา : สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2563 https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/31827