28 พฤศจิกายน 2563
การจะอยู่รอดในวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้นั้น องค์กรจะต้องพยายามรักษาเสถียรภาพกระแสเงินสดของบริษัทให้ได้เพื่อรอดพ้นวิกฤติ
1. ตัดสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่ก่อให้เกิดรายได้
ในระหว่างนี้อาจจะต้องครอบครองสินทรัพย์เท่าที่จำเป็นเพื่อการอยู่รอด อย่าให้มีกำลังการผลิตว่างเปล่าจากการถือครองสินทรัพย์ที่ใช้ในการผลิต หรือให้บริการเกินความจำเป็น สินทรัพย์ที่ครอบครองอยู่มีค่าใช้จ่ายในการครอบครอง ไม่ว่าการจัดเก็บ ดูแล รักษา หรือภาษี หากผลตอบแทนไม่คุ้มค่าที่จะเก็บไว้แล้วในระยะยาวอาจจะต้องตัดสินใจตัดไฟแต่ต้นลม แล้วจะรู้ได้อย่างไร พูดง่ายแต่ทำยาก คือต้องมองไปข้างหน้า แล้วคาดการณ์อนาคตว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างในภาพที่วาดไว้ในมุมต่างๆ และอย่ามองเข้าข้างตัวเอง โลกนี้ช่างโหดร้ายนัก จำไว้
2. อย่าก่อหนี้เพิ่ม ลดหนี้ได้ให้ลด
หนี้ที่มีต้นทุนการเงินสูงให้รีบลดก่อน เช่น ชำระหนี้คืนด้วยการขายสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็นเพื่อเอากระแสเงินสดมาชำระหนี้ หรืออาจจะต้องยอมเฉือนเนื้อเถือหนัง กัดฟันจ่ายหนี้ไปก่อน แล้วทำตัวสมถะให้ได้มากที่สุด ทำตัวเป็นกบจำศีลเล็กน้อยเพื่อรักษาบาดแผลให้หายดี คิดง่ายๆ “ถือสินทรัพย์ไว้ได้ผลตอบแทนน้อยกว่าต้นทุนการเงินของหนี้ที่มีอยู่”
3. เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย
ลดรายจ่ายคือส่วนที่เราใช้เป็นหลักการพื้นฐานในการเพิ่มกำไร หรือเพิ่มกระแสเงินสด แต่การลดรายจ่ายเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ตอบโจทย์ที่หนักอึ้งนี้ เพราะแม้จะทำตัวสมถะแล้ว แต่กิจการก็ยังต้องมีต้นทุนการดำรงชีพอย่างแน่นอน จึงจำเป็นต้องหารายได้ให้พอกับรายจ่าย ใครๆ ก็รู้ข้อนี้ แต่การหารายได้ในครั้งนี้ จำเป็นต้องหาช่องทางการหารายได้เพิ่มจากการลงทุน การดำเนินงาน เพราะฉะนั้นย้อนกลับไปข้อ 1, 2 อาจจะไม่ต้องตัดขายสินทรัพย์ หรือใช้วิธีการบริหาร เจรจาหนี้กับเจ้าหนี้เพื่อรักษาสภาพคล่อง เพราะหากสามารถหาผลตอบแทนจากรายได้ได้มากกว่าต้นทุนการถือครองสินทรัพย์ และต้นทุนการเงิน ก็ย่อมอาจจะยอมได้กับการเป็นหนี้
บางส่วนจากบทความ : “บริหารสินทรัพย์ โอกาสทอง พากิจการรอดวิกฤต”
โดย : วิทยา เอกวิรุฬห์พร / Section : Accounting Style / Column : CPD Talk วารสาร CPD & Account ปีที่ 17 ฉบับที่ 202 เดือนตุลาคม 2563
สมัครสมาชิก https://magazine.dst.co.th/cpd.html