12 ตุลาคม 2565
เมื่อสังคมเปิดกว้างมากขึ้น คู่รักหลายคู่มีทางเลือกในการใช้ชีวิตคู่มากกว่าการแต่งงาน จดทะเบียนสมรส และใช้ชีวิตในกรอบแบบเดิมๆ ทำให้การอยู่ก่อนแต่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอีกต่อไป แต่คำถามที่ตามมาก็คือ…การจดทะเบียนสมรส ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ หากจดแล้วมีสิทธิ์แตกต่างจากการไม่จดอย่างไร วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน
ทะเบียนสมรสสำคัญอย่างไร?
ทะเบียนสมรส คือ เอกสารทางกฎหมายที่ยืนยันความสัมพันธ์ของคู่แต่งงาน และใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันสิทธิ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างสามีภรรยา ทำให้ได้รับสิทธิ์ที่ควรได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การรับรองบุตร การแบ่งสินสมรส รวมถึงการฟ้องหย่าและเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ กรณีที่สามีหรือภรรยากระทำผิด
การจดทะเบียนสมรส กับ ไม่จดทะเบียนสมรส แตกต่างกันอย่างไร?
จดทะเบียนสมรส
การจดทะเบียนสมรสทำให้ทั้งสามีและภรรยาต่างมีสิทธิ์ต่างๆ ที่เป็นผลทางกฎหมาย โดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้
• ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิ์ในสินสมรส เช่น การรับสิทธิประโยชน์จากทางราชการหรือนายจ้างฝั่งสามีหรือภรรยา การจัดการสินสมรสร่วมกัน และการมีสิทธิ์เป็นทายาทมรดกของอีกฝ่าย
• การใช้สิทธิ์ลดหย่อนค่าภาษีเงินได้ ซึ่งไม่ว่าฝ่ายไหนจะมีรายได้มากกว่ากันก็ยังสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเงินได้ได้
• ต่างมีสิทธิ์ในตัวบุตรที่เกิดจากทั้งคู่ และบุตรจะมีฐานะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะมีสิทธิ์เป็นทายาทมรดกด้วย ส่วนสามีภรรยาก็สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเงินได้ได้
• สามารถทำนิติกรรมต่างๆ แทนกันได้ เช่น การฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีต่างๆ
• ภรรยามีสิทธิ์ในการใช้นามสกุลของสามี หรือจะไม่ใช้ก็ได้ตามความสมัครใจ
• ภรรยาที่เป็นชาวต่างชาติ มีสิทธิ์ขอถือสัญชาติไทยตามสามีได้
• ทั้งคู่สามารถหึงหวงกันได้ตามกฎหมาย หากพบว่าคู่สมรสมีชู้ ก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่สมรสและชู้ได้
• หากสามีหรือภรรยาทำความผิดระหว่างกัน เช่น สามีขโมยเงินภรรยา จะไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย
*** สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่สามีภรรยาจดทะเบียนสมรสกันแล้วต่างมีความเป็นเจ้าของร่วมกันถูกต้องตามกฎหมาย โดยสินสมรสจะหมายรวมถึงทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาจากพินัยกรรมโดยระบุให้เป็นสินสมรส และทรัพย์สินที่เป็นกำไรหรือดอกผลจากสินส่วนตัวแต่เกิดขึ้นหลังจดทะเบียนสมรสแล้ว
ไม่จดทะเบียนสมรส
สำหรับคู่รักที่อยู่กินกันแบบไม่จดทะเบียนสมรส สิทธิ์ต่างๆ ที่มีอยู่ถือว่าไม่ต่างจากสถานะโสดเท่าไรนัก โดยมีรายละเอียดดังนี้
• ไม่มีสินสมรสเกิดขึ้น และไม่ต้องจัดการเรื่องสินสมรสให้ยุ่งยาก เพราะทรัพย์สินเงินทองที่เป็นของสามี หรือภรรยา จะแยกออกจากกัน ต่างฝ่ายต่างมีสิทธิ์ในของตัวเอง และไม่มีสิทธิ์ในของอีกฝ่าย
• ไม่ต้องยุ่งยากเรื่องเอกสาร สินทรัพย์ หรือสิทธิ์ต่างๆ เมื่อเลิกรากัน
• หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหนี้สินระหว่างอยู่กินใช้ชีวิตด้วยกัน จะถือเป็นหนี้สินที่ต้องรับผิดชอบคนเดียว ไม่ต้องให้อีกฝ่ายร่วมรับผิดชอบ
• ต่างมีสิทธิ์รับมรดกของอีกฝ่ายเมื่อมีการระบุไว้ในพินัยกรรมเท่านั้น
• หากมีบุตรร่วมกัน ผู้มีสิทธิ์ในตัวบุตรตามกฎหมายจะเป็นฝ่ายหญิง ส่วนฝ่ายชายจะมีสิทธิ์เมื่อจดทะเบียนรับรองบุตร