จัดการสินสมรสอย่างไร? ให้หมดปัญหาชีวิตคู่ในอนาคต

03 พฤศจิกายน 2565

คู่สมรสต่างจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย มีเรื่องต่างๆ ที่ต้องจัดการทั้งส่วนตัวและส่วนรวม โดยเฉพาะเรื่องของทรัพย์สินที่แน่นอนว่าจะมีส่วนของสินสมรสเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในบทความนี้เราจะพาไปดูรายละเอียดแนวทางจัดการสินสมรส เพื่อป้องกันปัญหาของชีวิตคู่

สินสมรส คืออะไร?

สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่สามีภรรยาจดทะเบียนสมรสกันแล้วต่างมีความเป็นเจ้าของร่วมกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยสินสมรสจะหมายรวมถึงทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาจากพินัยกรรมโดยระบุให้เป็นสินสมรส และทรัพย์สินที่เป็นกำไรหรือดอกผลจากสินส่วนตัวแต่เกิดขึ้นหลังจดทะเบียนสมรสแล้ว

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474

สินสมรส ได้แก่ ทรัพย์สิน

1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส

3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

การจัดการสินสมรส อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476

สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

4) ให้กู้ยืมเงิน

5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

6) ประนีประนอมยอมความ

7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480

การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น

การจัดการสินสมรส ไม่ได้เพียงเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่มีอยู่ของคู่สมรสเท่านั้น แต่ยังหมายถึงหนี้สินที่ทั้งคู่มีร่วมกันด้วย ดังนั้นการตกลงกันตั้งแต่เริ่มต้นก่อนมีภาระผูกพันกันทั้งคู่ ควรวางแผนและตกลงกันอย่างรอบคอบ รวมทั้งศึกษาเรื่องกฎหมายต่างๆ อย่างละเอียด เพื่อป้องกันปัญหายามเลิกรากันในอนาคต

 

อ้างอิงข้อมูล

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์

สำนักงานกิจการยุติธรรม 

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?