กองทุนรวม คืออะไร เลือกลงทุนอย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง?

กองทุนรวม คืออะไร เลือกลงทุนอย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง?

ว่าด้วยเรื่องการลงทุน กองทุนรวมคือกระเป๋าเงินอีกใบที่น่าสนใจ เป็นอีกทางเลือกของผู้ที่ต้องการให้เงินงอกเงยผ่านความเสี่ยงระดับต่างๆ ซึ่งสำหรับมือใหม่อาจต้องหาข้อมูลให้แน่นเพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง และลดความผิดพลาด รายละเอียดจะเป็นอย่างไร วันนี้ ธรรมนิติ นำข้อมูลเพื่อทำความรู้จักกับกองทุนรวมเบื้องต้นมาฝากค่ะ

กองทุนรวม คืออะไร?

กองทุนรวม คือ การนำเงินที่มีการระดมจากผู้ลงทุน ไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภท​ต่างๆ ตามนโยบายการลงทุนที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน

ผู้ลงทุนแต่ละรายจะได้รับหน่วยลงทุน เป็นหลักฐานเพื่อยืนยันฐานะความเป็นเจ้าของเงินที่ได้ลงทุนไป และมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)​ เป็นผู้จัดตั้ง ทำหน้าที่บริหารกองทุนรวมให้ได้ผลตอบแทน แล้วนำมาเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ลงทุนแต่ละรายตามสัดส่วนที่ลงทุนหากเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายปันผล

ทั้งนี้หากได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผลจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 แต่ไม่ต้องเสียภาษีในกรณีของ Capital Gain (ผลตอบแทนในรูปของส่วนต่างในกรณีที่ราคาขายสูงกว่าราคาซื้อ)

ทำความรู้จักประเภทของกองทุนรวม

แบ่งตามนโยบายการลงทุนแบบมาตรฐานของ ก.ล.ต.

1. กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีกำหนดชำระเงินต้นเมื่อทวงถาม หรือมีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เหมาะสำหรับการลงทุนระยะสั้นของผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยง

2. กองทุนรวมตราสารหนี้ (General Fixed Income Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ตั๋วเงินคลัง บัตรเงินฝากของธนาคาร ตลอดจนหุ้นกู้ของภาคเอกชน เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อย เพราะตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยที่มีความสม่ำเสมอ

3. กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว (Long-Term Fixed-Income Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในเงินฝากหรือตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยในการถือครองในขณะใดขณะหนึ่งมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงต่ำ และสามารถลงทุนระยะยาวได้

4. กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น (Short-Term Fixed-Income Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในเงินฝากหรือตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยในการถือครอง ในขณะใดขณะหนึ่งไม่เกิน 1 ปี เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะสั้น และต้องการความเสี่ยงต่ำ

5. กองทุนรวมผสม (Balanced Fund) คือ กองทุนรวมที่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทต่างๆ ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก ตราสารหนี้ ตราสารทุน แต่จะต้องมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนในขณะใดขณะหนึ่ง ไม่น้อยกว่า 35% และไม่เกินกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมนั้น เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลาง

6. กองทนรวมผสมยืดหยุ่น (Flexible Portfolio Fund) คือ กองทุนรวมที่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทต่างๆ ได้ทุกประเภทเช่นเดียวกับกองทุนรวมผสม แต่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุน เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลาง

7. กองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of Funds) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม โดยเฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ข้อดีของกองทุนรวมหน่วยลงทุนคือ มีต้นทุนเฉลี่ยต่ำ มีการกระจายความเสี่ยงมากกว่ากองทุนประเภทอื่น ส่วนข้อเสียคือ มีค่าธรรมเนียมในการจัดการและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซ้ำซ้อน

8. กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนประเภทต่างๆ ได้แก่ หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ (Warrant) โดยเฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูง เนื่องจากเป็นการนำเงินไปลงทุนในตราสารทุนที่มีความผันผวนของราคาหรือมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง แต่ก็ให้ผลตอบแทนสูงด้วยเช่นเดียวกัน

9. กองทุนรวมใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุน หรือหุ้นเพิ่มทุน โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม โดยการลงทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงมาก

10. กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ (Sector Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่มีธุรกิจหลักประเภทเดียวกัน (ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด) เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม โดยจะลงทุนเฉพาะกลุ่มธุรกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มสื่อสาร ซึ่งอาจมีข้อเสียคือเป็นการลงทุนแบบกระจุกตัว จึงมีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวมตราสารแห่งทุนทั่วไป

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการลงทุน 

1. การผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) ที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงจนส่งผลให้ราคาของตราสารหนี้เปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงข้ามกับอัตราดอกเบี้ย

2. การเปลี่ยนแปลงของภาวะตลาดโดยรวม (Market Risk) อาจส่งผลให้ราคาของหลักทรัพย์ต่างๆ มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงลดลง

3. การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (Political Risk) อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารประเทศและการลงทุนได้ รวมถึงราคาของหลักทรัพย์ในตลาดลดลงหรือชะลอตัว

4. การผิดนัดชำระหนี้ (Credit Risk) ซึ่งมาจากบริษัทที่ออกตราสารหนี้ที่กองทุนรวมเข้าไปลงทุนมีผลประกอบการขาดทุน ไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้กองทุนรวมตามเวลาที่กำหนดได้

5. การขาดสภาพคล่อง (Liquidity Risk) เช่น หลักทรัพย์ที่ลงทุนมีการซื้อขายเปลี่ยนมือไม่มาก ทำให้ไม่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ในราคาหรือจำนวนที่ต้องการในช่วงเวลาที่เหมาะสม

6. อัตราแลกเปลี่ยนกรณีเป็นการลงทุนต่างประเทศ (Foreign Exchange Risk) อาจส่งผลให้ราคาของหลักทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง จากความผันผวนของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศสกุลอื่น

เลือกลงทุนกองทุนรวมอย่างไรให้เหมาะกับตัวเอง? 

แน่นอนว่าปัจจุบันมีหลายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมหลากหลายประเภทให้เลือก ทั้งเพื่อลงทุน เพื่อลดหย่อน เพื่อการออม ฉะนั้นจึงควรมีทริคที่จะสามารถทำให้ผู้ลงทุนได้ประโยชน์ ดังนี้

1. เลือกกองทุนรวมที่เหมาะกับสไตล์การลงทุนของตนเอง

2. เลือกกองทุนรวมที่ลงทุนในหลักทรัพย์ที่ผู้ลงทุนมีความรู้ความชำนาญ

3. อ่านหนังสือชี้ชวนให้ละเอียด

4. ไม่ควรให้น้ำหนักความสำคัญกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุนรวมในอดีตมากนัก

5. เลือกกองทุนรวมที่มีผลการดำเนินงานหรือให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับ ดัชนีมาตรฐาน(Benchmark) อย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

6. เลือกกองทุนรวมที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนอื่นๆ ที่มีลักษณะ และนโยบาย การลงทุนเหมือนกัน

7. เลือกกองทุนรวมที่ให้บริการครบวงจร

8. พิจารณาสภาวะตลาดเพื่อหาจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการเข้าซื้อขายหน่วยลงทุน

เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง เพื่อเป็นการทำความเข้าใจและเลือกลงทุนให้ได้ประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันมีการพัฒนาเว็บไซต์หลากหลายเพื่อเป็นแบบฝึกหัดให้นักลงทุนหน้าใหม่ได้ลองทดสอบประเมินตัวเองกับความเสี่ยงในกองทุนรวมต่างๆ และเป็นการอบรมออนไลน์ โดยสามารถเลือกหลักสูตรการลงทุนต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คลิกที่นี่

***บทความนี้ไม่ได้เป็นการแนะนำการลงทุน เป็นการทำขึ้นเพื่อการศึกษาเท่านั้น

 

อ้างอิงข้อมูล

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?