มีเพื่อนบ้านดีเหมือนถูกลอตเตอรี่ เพราะการสร้างบ้านหรือซื้อบ้านอาจไม่สามารถกำหนดเพื่อนบ้านได้ ดังนั้นหากโชคดีมีเพื่อนบ้านน่ารักก็ได้พึ่งพาอาศัย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กัน แต่หากเพื่อนบ้านไม่น่ารัก เห็นแก่ตัว ไม่รู้จักนึกถึงส่วนรวม หรือวันดีคืนดีมีปากเสียงกันเองแล้วทำให้เราโดนลูกหลงไปด้วย ก็ถือเป็นความซวยที่ยากจะเลี่ยงได้ หากเป็นแบบนี้แล้วจะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ และต้องทำอย่างไร ลองตามไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน
ปัญหาเพื่อนบ้าน กฎหมายอะไรช่วยได้บ้าง?
การหย่า คือการสิ้นสุดการสมรสในทางกฎหมาย ซึ่งมีคำจำกัดความการสิ้นสุดการสมรสไว้ 3 กรณี คือ
ประมวลกฎหมายอาญา
• มาตรา 370 ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
• มาตรา 397 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
• มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
• มาตรา 421 การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
• มาตรา 436 บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดจากของตกหล่นจากโรงเรือน หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันไม่ควร
***ผู้อยู่ในโรงเรือน คือผู้ที่อยู่ในฐานะดูแลหรือเป็นหัวหน้าครอบครัว ไม่รวมถึงบุคคลทุกคนที่อยู่ในโรงเรือน และไม่ได้หมายถึงเจ้าของโรงเรือนด้วย ยกเว้นเจ้าของจะเป็นผู้อยู่ในโรงเรือน คนที่เป็นผู้อาศัย คนใช้ หรือแขกที่มาเยี่ยมเยือน หรือมาอาศัยชั่วคราวไม่ใช่ผู้อยู่ในโรงเรือนตามมาตรานี้ แต่ถ้ามีผู้เช่าแยกเป็นสัดส่วนไปแล้ว เจ้าของไม่ต้องรับผิด ผู้เช่าเป็นผู้รับผิดตามมาตรา 436 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1689/2518)
ดังนั้นผู้เสียหายที่โดนลูกหลงจากเพื่อนบ้านทะเลาะกัน สามารถเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากเจ้าของที่พักหรือผู้เช่าอาศัยในบ้านหลังที่เป็นต้นเหตุได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 436
เหตุแห่งความเสียหายที่มีความผิดตามมาตรา 436 แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1) เกิดจากของตกหล่นจากโรงเรือน
2) เกิดจากการทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร
ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้อยู่ในโรงเรือน ในกรณีที่ไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ใดเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องให้มารับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ไม่ได้ แต่สามารถฟ้องร้องผู้อยู่ในโรงเรือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 436 ได้
ข้อสังเกตกรณีความผิดเกิดจากการทิ้งขว้างของไปตกในที่อันไม่ควร
1) ของที่ทิ้งขว้างจะเป็นอะไรก็ได้ และต้องทิ้งขว้างมาจากโรงเรือนเท่านั้น หากทิ้งขว้างจากสิ่งอื่น เช่น รถยนต์ เรือ จะไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 436
2) การทิ้งขว้างคือการกระทำของบุคคลที่ตั้งใจทิ้งขว้าง จะทิ้งขว้างไปตกที่ใดก็ได้แต่ไปตกในที่อันไม่ควร หากเป็นการอันควรทิ้งขว้างได้ เช่น กองขยะหรือถังขยะ ก็ไม่อยู่ในบังคับมาตรานี้
3) ผู้อยู่ในโรงเรือนที่จะต้องรับผิด คือ ในกรณีที่มีการทำของตกหล่นหรือทิ้งขว้างโดยหาตัวผู้ทำความผิดไม่ได้ แต่ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว บุคคลนั้นต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ไม่ต้องวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 436
ดังนั้นหากการโดนลูกหลงจากการที่เพื่อนบ้านทะเลาะกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 หรือ 421 ข้างต้นแล้ว สามารถฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหาย และขอให้ศาลบังคับให้จำเลยหยุดการกระทำต่างๆ ที่เป็นการละเมิด หรือ แก้ไข หรือหากสภาพเดือดร้อนนั้นไม่สามารถแก้ไขให้คืนดังเดิมได้ ก็สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมได้
อ้างอิงข้อมูล
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ประมวลกฎหมายอาญา