11 มีนาคม 2565
ในวิกฤติมักมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย อย่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือการเข้าสังคมของผู้คน การปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลและใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำงานมากขึ้นในกลุ่มธุรกิจ รวมถึงการเตรียมรับมือสังคมยุค New Normal ที่จะเป็นวิถีชีวิตใหม่หลังพ้นวิกฤติโควิด-19 ที่หากรู้สถานการณ์และปรับตัวได้ก่อน ย่อมได้เปรียบ
New Normal คืออะไร?
New Normal คือความปรกติใหม่ หรือฐานวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งหมายถึง รูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ ที่แตกต่างจากอดีตเพราะได้รับผลกระทบจากบางสิ่ง บางเหตุการณ์ จนแบบแผนและแนวทางที่คุ้นเคยเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่วิถีชีวิตใหม่ เมื่อเวลาผ่านไปจะทำให้เกิดความคุ้นชิน และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตปรกติ
ที่มาของ New Normal
New Normal ถูกใช้ครั้งแรกโดยบิลล์ กรอส (Bill Gross) ผู้ก่อตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ชาวอเมริกัน โดยใช้อธิบายสภาวะเศรษฐกิจโลก หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ ในสหรัฐฯ ช่วงระหว่างปี 2007-2009 และถูกนำมาใช้สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถดถอยลง และมีโอกาสที่จะไม่กลับมาเติบโตถึงระดับเดิมได้อีก
เทรนด์พฤติกรรมแบบ New Normal
1. การใช้เทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ต
เทคโนโลยีควบคู่กับอินเทอร์เน็ตจะเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตมากขึ้น ที่จากเดิมมีมากอยู่แล้ว แต่ในสังคมยุค New Normal สิ่งเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในแทบทุกจังหวะชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การเรียนออนไลน์ การทำงานที่บ้าน การประชุมออนไลน์ การซื้อสินค้าออนไลน์ การทำธุรกรรม และการเอ็นเตอร์เทนชีวิตรูปแบบต่างๆ อย่างดูหนัง ฟังเพลง
2. การเว้นระยะห่างทางสังคม
ผู้คนในสังคมจะเห็นความสำคัญของการเว้นระยะห่างที่เป็นแนวทางการใช้ชีวิตช่วงวิกฤติโควิด-19 และจะดำเนินชีวิตแบบนั้นต่อไป โดยรักษาระยะห่างทางกายภาพเพิ่มขึ้น และใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการสื่อสารและการใช้ชีวิต ลดการปฏิสัมพันธ์ การไปในสถานที่สาธารณะ และเน้นการทำกิจกรรมที่บ้านมากขึ้น
3. การดูแลใส่ใจสุขภาพทั้งตัวเองและคนรอบข้าง
โดยเกิดความคุ้นชินจากช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ต้องดูแลด้านสุขภาพและความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ดังนั้นพฤติกรรมการใช้หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และการล้างมืออย่างถูกวิธี และหมั่นสังเกตตัวเองเมื่อไม่สบายจะยังคงมีต่อไป รวมถึงการหันมาใส่ใจสุขภาพ การออกกำลังกาย และการทำประกันสุขภาพจะมีแนวโน้มมากขึ้น
4. การใช้เงินเพื่อการลงทุน
ยุค New Normal เป็นจังหวะที่ผู้คนยังระมัดระวังการลงทุนใหม่ๆ และลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน
5. การสร้างสมดุลชีวิต
การมีโอกาสได้ทำงานที่บ้าน ลดจำนวนวันการเข้าออฟฟิศ หรือการลดการพะปะผู้คนในสังคม แล้วหันมาใช้ชีวิต และทำงานที่บ้าน ทำให้ผู้คนมองเห็นแนวทางที่จะสร้างสมดุลชีวิตระหว่างอยู่บ้านมากขึ้น และจะเป็นแนวทางในการปรับสมดุลชีวิตระหว่างเวลาส่วนตัว การงาน และสังคมให้สมดุลมากยิ่งขึ้น
แนวโน้มชีวิตยุค New Normal
ความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนนั้น ได้มีการสำรวจโดยสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ ซึ่งได้เปิดผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง จริตใหม่ประชาชนหลังพ้นโควิด-19 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,255 ตัวอย่าง ซึ่งผลสรุปบางส่วนออกมา ดังนี้
• ร้อยละ 86.2 ระบุ สั่งสินค้าเดลิเวอรี่มากขึ้น
• ร้อยละ 83.7 พูดคุย ติดโลกโซเชียลมากขึ้น
• ร้อยละ 81.5 ใช้เทคโนโลยีสื่อสาร โซเชียลมีเดียมากขึ้น
• ร้อยละ 79.8 คุ้นเคยลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ
• ร้อยละ 79.1 ดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น
• ร้อยละ 64.2 ดูแลสุขภาส่วนรวมมากขึ้น
• ร้อยละ 62.6 ศึกษาเล่าเรียนออนไลน์มากขึ้น
• ร้อยละ 60.6 แต่งกายใช้หน้ากากอนามัยเป็นแฟชั่น ดูดีมีสไตล์มากขึ้น
• ร้อยละ 56.6 คบหาพบปะผู้คนเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
• ร้อยละ 55.2 ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) มากขึ้น
New Normal หลังวิกฤติโควิด-19 กับการปรับตัว
ในวิกฤติโควิด-19 New Normal ถูกพูดถึงและนำมาใช้อีกครั้งซึ่งครั้งนี้ขยายวงครอบคลุมไปถึงภาค ธุรกิจ เศรษฐกิจ การศึกษา ชีวิตประจำวัน การทำงาน และสังคม
ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ
ขณะที่โควิด-19 กำลังระบาดนั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และการใช้ชีวิตของผู้คน แต่ยังส่งผลกระทบให้ธุรกิจ และเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง บางธุรกิจอาจเติบโต เพราะปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ ขณะที่บางธุรกิจอาจทรุดหรือปิดตัวเพราะไม่พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงนั้น
แน่นอนว่าเมื่อวิกฤติครั้งนี้ผ่านพ้นไป ย่อมพ่วงมาด้วยความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เรียกว่า New Normal ซึ่งจะเข้ามามีบทบาท และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวทางและรูปแบบการดำเนินธุรกิจทุกขนาด โดยแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงมีดังนี้
1. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลในธุรกิจมากขึ้น เช่น การซื้อสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมแนวทางสำหรับการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์
2. การขายสินค้าแบบอัตโนมัติ พร้อมบริการข้อมูลแก่ลูกค้าแบบเรียลไทม์ เพื่อความรวดเร็วเข้าถึงทุกที่ทุกเวลา
3. การนำหุ่นยนต์ ยานพาหนะไร้คนขับ หรือโดรนมาให้บริการ ในธุรกิจต่างๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ การแพทย์
4. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการออนไลน์ เช่น กลุ่มธุรกิจอีเวนท์ อบรม สัมมนา
ประชาชนคนทำงาน
1. การรักษาระยะห่างในที่ทำงาน คนทำงานที่เปลี่ยนจากการทำงานที่บ้าน และกลับมาเข้าทำงานที่บริษัท ยังคงคุ้นเคยกับการปฏิบัติแบบรักษาระยะห่างเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัส และยังคงเห็นความสำคัญจากการดูแลสุขภาพในที่ทำงานมากขึ้น
2. ใช้เทคโนโลยีช่วยทำงานมากยิ่งขึ้น จากการรักษาระยะห่างทางสังคมและการ work from home ที่เคยปฏิบัติจนเคยชิด ทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำงาน โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ต และแอปพลิเคชันต่างๆ เช่นการประชุมงาน การส่งงาน
3. มีการพัฒนาทักษะผ่านคอร์สออนไลน์ ในการทำงานช่วงโควิด-19 ทำให้ผู้คนบางกลุ่มถูกเลิกจ้าง หรือถูกลดเงินเดือน การพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีความสามารถ และเป็นผู้เชี่ยวชาญตามที่ตลาดแรงงานยังต้องการจึงมีความสำคัญ ดังนั้นการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ผ่านช่องทางออนไลน์ จึงเป็นทางเลือกของชาวออฟฟิศที่ทำให้ได้พั?นาตัวเองพร้อมกับที่ยังทำงานประจำได้อยู่
New Normal ในวันนี้อาจเป็นแนวทางในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจะกลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างปรกติวิธีในอนาคตเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในวิกฤติต่างๆ ก่อนหน้านี้ แต่การเตรียมพร้อมและตั้งรับอย่างดียังเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทั้งธุรกิจและชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้ไม่ว่าจะมีอีกกี่วิกฤติผ่านเข้ามา
ข้อมูลอ้างอิง
superpollthailand.net
chula.ac.th
thaipbs.or.th