หนี้เสีย คืออะไร หากลูกหนี้เสียชีวิตจะตกทอดแก่ทายาทมรดกหรือไม่?
มีหนี้ต้องใช้คืน แต่หากลูกหนี้จ่ายไม่ไหวจนทำให้หนี้นั้นกลายเป็นหนี้เสีย ซ้ำยังเสียชีวิตไปก่อนจะเคลียร์หนี้ได้หมด หนี้ส่วนนี้ถือเป็นมรดกที่จะตกไปให้ลูกหลานต้องรับผิดชอบหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ
หนี้เสีย คืออะไร?
หนี้เสีย หรือ NPL (Non-performing Loan) คือ หนี้ที่ไม่ได้รับการชำระคืนตามข้อกำหนดตกลงกันตามสัญญา โดยลูกหนี้ผิดนัด ไม่ได้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งปกติแล้วกำหนดไว้ที่ 90 วัน
หากเป็นลูกหนี้ประวัติไม่ดี ค้างชำระบ่อยๆ ข้อมูลจะถูกส่งไปที่เครดิตบูโร หรือก็คือศูนย์รวมข้อมูลเครดิต ซึ่งเจ้าเครดิตบูโรนี้เป็นสิ่งที่ธนาคารเอาไว้พิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าคนนั้นๆ
สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดหนี้เสีย
การเป็นหนี้เสียเริ่มจากความสามารถในการผ่อนชำระน้อยลง ผ่อนไม่ไหว จนทำให้ขาดการส่งเงิน หรือเรียกว่ารายจ่ายมากกว่ารายรับ ส่งผลให้กำลังผ่อนน้อยลง
หนี้เสียส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากสาเหตุหลักคือการกู้ซื้อบ้าน ที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์ คิดเป็นจำนวน 20 – 30% เพราะการผ่อนบ้าน คอนโดฯ ถือเป็นเงินก้อนที่ต้องใช้เวลาผ่อนยาว ส่วนสาเหตุรองลงมาคือหนี้บัตรเครดิต ที่จ่ายง่ายใช้คล่องแต่มาพร้อมดอกเบี้ยก้อนใหญ่ บางรายชำระคืนไม่ไหวก็ติดแบล็คลิสต์กันไปตามขั้นตอน
หากลูกหนี้เสียชีวิต หนี้เสียจะตกทอดแก่ทายาทมรดกหรือไม่?
มรดก เกิดขึ้นเมื่อบุคคลเสียชีวิต และจะตกทอดถึงทายาททันที ทั้งทรัพย์สิน สิทธิ์ หน้าที่และความรับผิด ดังนั้นหนี้จึงเป็นมรดก เพราะถือเป็นหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ แม้เจ้ามรดกที่เป็นหนี้จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่หน้าที่ในการชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้ยังคงอยู่
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754
ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
คดีฟ้องเรียกตามข้อกำหนดพินัยกรรม มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อผู้รับพินัยกรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรม
ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก
ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย
สรุปตามกฎหมาย
หากเจ้ามรดกมีหนี้สิน หนี้ถือว่าเป็นมรดก โดยเจ้าหนี้สามารถติดตามทวงถามกับทายาทได้เท่ามรดกที่ได้รับเท่านั้น หากมีหนี้เกินกว่ามรดกที่ได้รับทายาทไม่ต้องจ่ายส่วนเกิน
โดยเจ้าหนี้ต้องฟ้องเอาเงินจากกองมรดกจากทายาทภายใน 1 ปี นับแต่เจ้าหนี้รู้ว่าเจ้ามรดกตาย แต่ถ้าไม่รู้และมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหนี้ไม่รู้ สามารถฟ้องได้ภายใน 10 ปี แต่ถ้าเกิน 10 ปีไปแล้วแม้จะเพิ่งรู้ก็ไม่สามารถฟ้องได้
***การฟ้องทายาทมรดกให้ชำระหนี้ ต้องฟ้องทุกคน จะฟ้องคนใดคนหนึ่งไม่ได้
การเป็นหนี้เสีย เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะหนี้เสียมีแต่เสีย ทั้งความน่าเชื่อถือ โอกาสการกู้เงิน และเสียดอกเบี้ยบานปลาย แต่หากเกิดขึ้นแล้วทางออกที่ลูกหนี้ควรรีบดำเนินการคือการเผชิญหน้า ติดต่อเจ้าหนี้ เพื่อหาทางประนีประนอมหรือหาทางออกที่ดีกว่าการเพิกเฉยหรือหนีหนี้ เพราะนั่นหมายถึงมรดกที่คุณสร้างไว้ให้ลูกหลานหรือทายาทมรดกในอนาคต