20 พฤษภาคม 2565
รู้หรือไม่?…ผู้ประกันตนอย่างเราๆ จ่ายเงินไปไม่สูญเปล่า เพราะนอกจากจะครอบคลุมเรื่องค่ารักษาพยาบาล และการชดเชยรายได้ช่วงว่างงานแล้ว ยังมีอีกส่วนที่เหมือนเป็นเงินออมที่ประกันสังคมแบ่งไว้ให้ผู้ประกันตนได้ใช้ยามเกษียณอีกด้วย เงินส่วนนั้นเรียกว่า เงินสมทบกรณีชราภาพ
เงินสมทบกรณีชราภาพของประกันสังคม คืออะไร?
เงินส่วนนี้มาจากการที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสบทบประกันสังคม ซึ่งเงินส่วนนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ การรักษาพยาบาล การว่างงาน และชราภาพ
โดยในที่นี้เราจะมาโฟกัสกันที่เงินสมทบกรณีชราภาพ ซึ่งเงินส่วนนี้จะถูกหักในยอด 3% ของอัตราเงินเดือน (อัตราเงินเดือนสูงสุดที่ประกันสังคมคิดอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน)
การคำนวนเงินสมทบกรณีชราภาพ
สามารถคำนวนได้ 2 แบบคือ
1. เงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท/เดือน คิดยอดจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพจากเงินเดือนจริง เช่น เงินเดือน 10,000 บาท
ยอดจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพ จะได้เท่ากับ 10,000 – 3% = 300 บาท
2. เงินเดือนเท่ากับหรือมากกว่า 15,000 บาท/เดือน คิดยอดจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพจากอัตราเงินเดือนสูงสุดของประกันสังคม คือ 15,000 บาท
ยอดจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพ จะได้เท่ากับ 15,000 – 3% = 450
***เงินสมทบกรณีชราภาพนี้จะถูกนำไปรวมกับเงินสมทบกรณีรักษาพยาบาล และกรณีว่างงาน จึงจะเป็นยอดรวมที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายสมทบในแต่ละเดือน เช่น จ่ายเงินสมทบในอัตราสูงสุดที่ 750 ยอดนี้มาจาก
• เงินสมทบกรณีรักษาพยาบาล 1.5% ของเงินเดือน = 225 บาท
• เงินสมทบกรณีว่างงาน 0.5% ของเงินเดือน = 75 บาท
• เงินสมทบกรณีชราภาพ 3% ของเงินเดือน = 450 บาท
เงินสมทบกรณีชราภาพมีกี่แบบ?
1. บำนาญชราภาพ (รับเงินรายเดือน)
เงื่อนไขการเกิดสิทธิกรณีบำนาญชราภาพ
• จ่ายเงินสมทบรวมไม่น้อยกว่า 180 เดือน โดยจะจ่ายติดต่อกันจนครบ หรือจ่ายไม่ติดต่อกันก็ได้ แต่รวมแล้วได้ 180 เดือน
• มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
• ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
ประโยชน์ทดแทนกรณีบำนาญชราภาพ
• กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
• กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพตามข้อ 1 ขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน
2. บำเหน็จชราภาพ (รับเงินก้อน)
เงื่อนไขการเกิดสิทธิกรณีบำเหน็จชราภาพ
• จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
• มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย
• ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
ประโยชน์ทดแทนกรณีบำเหน็จชราภาพ
• กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
• กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
• กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย
ใครมีสิทธิได้รับเงินสมทบกรณีชราภาพ?
ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบกับประกันสังคมไว้ ไม่ได้มีสิทธิรับเงินสมทบกรณีชราภาพทุกคน หากแต่ต้องมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้คือ
กลุ่มที่ 1 ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ผู้ที่ทำงานประจำ) และมาตรา 39 (ผู้ที่ลาออกจากงานประจำแล้ว) ที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
กลุ่มที่ 2 ผู้ประกันตนตามมาตร 40 เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ ที่ไม่เป็นลูกจ้างประจำในกลุ่มมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 โดยเป็นผู้มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และแจ้งสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
กลุ่มที่ 3 ทายาทของผู้ประกันตนที่เสียชีวิต
• บุตรชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรม หรือบุตรซึ่งได้ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
• สามี-ภรรยา ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
• บิดา-มารดา ที่มีชีวิตอยู่
หลักฐานที่ใช้ในการขอคืนเงินทดแทนกรณีชราภาพ
กรณีผู้ประกันตนขอคืนเงินด้วยตัวเอง
• แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส. 2-01)
• สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอฯ (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) ธนาคารใดธนาคารหนึ่งใน 11 ธนาคาร ดังนี้คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน), ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน), ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน), ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน), ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรห์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต และทายาทยื่นเอกสารขอคืนเงินแทน
• แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ (สปส. 2-01)
• สำเนามรณะบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านผู้ตาย
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพ
• สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ประกันคนและของบริดามารดา (ถ้ามี)
• สำเนาสูติบัตรของบุตรหรือสำเนาทะเบียนบ้านของบุตร กรณีไม่มีสูติบัตร
• หนังสือระบบให้เป็นผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพ (ถ้ามี)
• สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอฯ (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร โดยรายชื่อธนาคารเหมือนกับกรณีผู้ประกันตนขอคืนเงินด้วยตัวเอง)
การดำเนินการยื่นเอกสาร
1. ผู้ประกันตน หรือทายาทที่มีสิทธิกรอกแบบ สปส. 2-01 พร้อมลงลายมือชื่อ
2. นำเอกสารยื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา (ยกเว้น สำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน
เงินสมทบกรณีชราภาพ เป็นเหมือนเงินออมยามเกษียณ และเป็นหลักประกันชีวิตส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกันตนอุ่นใจเมื่อถึงวันต้องออกจากงาน ดังนั้นการส่งเงินสมทบตรงตามเวลา หรือการส่งเงินสมทบต่อด้วยตนเองเมื่อออกจากงาน จะช่วยให้เงินออมยามเกษียณมีจำนวนมากพอที่ผู้ประกันตนจะใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย
ข้อมูลอ้างอิง
www.sso.go.th