12 ตุลาคม 2565
ปัญหาเรื่องที่จอดรถถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทจนเป็นข่าวให้เห็นมานักต่อนัก โดยเฉพาะการจอดรถในที่สาธารณะ ในหมู่บ้าน และหน้าบ้านตัวเอง ที่หลายคนอาจเข้าใจว่า พื้นที่เหล่านี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของ จึงไม่ถือเป็นความผิด แต่รู้หรือไม่ว่า ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่มีเจ้าของหรือไม่ แต่ถ้าทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือกีดขวางการจราจร ก็ถือว่ามีความผิด แต่จะผิดมากหรือน้อย และจะแก้ไขได้อย่างไร วันนี้ธรรมนิติ จะพาไปดูรายละเอียดกัน
ผิดไหม หากจอดรถริมรั้ว หรือจอดบนถนนหน้าบ้านตัวเอง?
ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พื้นที่หน้าบ้านไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของเจ้าของบ้าน แต่เป็นเพียงพื้นที่ที่อยู่ติดกับตัวบ้าน ผู้อื่นจึงยินยอมให้เจ้าของบ้านนั้นใช้ประโยชน์ได้ก่อน แต่การใช้ประโยชน์นั้นต้องไม่ผิดกฎหมาย และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น
นอกจากนี้สิทธิ์ที่เจ้าของบ้านจะได้เพิ่มเติมก็คือ ช่องประตูที่ขออนุญาตไว้เรียบร้อยแล้วว่าเป็นทางเข้าออก โดยจะถูกระบุไว้ว่าเป็นทางสัญจร ซึ่งถือเป็นทางสัญจรสำหรับเจ้าของบ้านคนเดียว
กฎหมายห้ามจอดรถบริเวณใดบ้าง?
กระทรวงยุติธรรม ได้มีการชี้แจงข้อกฎหมายเพื่อไขข้อข้องใจไว้ ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 55 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ
1. ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง
2. บนทางเท้า
3. บนสะพานหรือในอุโมงค์
4. ในทางร่วมทางแยก
5. ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ
6. ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ
7. ในเขตปลอดภัย
8. ในลักษณะกีดขวางการจราจร
ดังนั้นหากเป็นถนนในหมู่บ้าน การจอดรถไว้ริมรั้ว ริมถนนหน้าบ้านตนเอง หรือหน้าประตูเข้าออกบ้านตนเองที่ถือเป็นทางสัญจรสำหรับเจ้าของบ้าน ก็ยังถือว่ามีโอกาสผิดในข้อต่างๆ ได้ หากเป็นกรณีดังต่อไปนี้
• จอดรถอยู่ในบริเวณทางร่วม ทางแยก
• จอดรถในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ
• จอดรถตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ
• จอดรถในเขตปลอดภัย
• จอดรถในลักษณะกีดขวางการจราจร
บทลงโทษทางกฎหมาย
1. โทษทางอาญา
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ว่าด้วยการกระทำใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ถ้าการกระทำนั้นเป็นการกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล หรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. โทษทางแพ่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
แม้การจอดรถบนถนนในหมู่บ้าน หรือในพื้นที่สาธารณะจะเป็นเรื่องที่พูดคุยเจรจากันเบื้องต้นก่อนเกิดเหตุทะเลาะวิวาทได้ แต่การรู้จักขอบเขตสิทธิ์ของตัวเอง และเคารพกฎของการอยู่ร่วมกันในสังคม ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณไม่ทำในสิ่งที่ฝ่าฝืนกฎจนทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน อึดอัดใจ หรือไม่สะดวกในการใช้ชีวิต ซึ่งอาจนำไปสู่การสะสมความรู้สึกที่ไม่ดีกับคุณ