จำนำของคนอื่น ทำได้หรือไม่ มีความผิดอย่างไรบ้าง ?

จำนำของคนอื่น ทำได้หรือไม่ มีความผิดอย่างไรบ้าง

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า “ขอยืมของเพื่อนมาจำนำ เดี๋ยวหาเงินมาไถ่คืนก็ไม่มีปัญหา” แต่รู้หรือไม่ว่าแบบนี้ผิดกฎหมายเต็มๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 การนำทรัพย์สินของผู้อื่นไปจำนำโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็น “ความผิดฐานยักยอกทรัพย์” ซึ่งมีโทษหนักถึงจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การจำนำที่ถูกต้อง ผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นจริงๆ เพราะหากผิดนัดชำระหนี้ ผู้รับจำนำต้องมีสิทธิขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้นได้ หากคุณนำของคนอื่นไปจำนำ เท่ากับคุณไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น และยังอาจสร้างปัญหาทางกฎหมายทั้งกับตัวเองและเจ้าของทรัพย์สิน ดังนั้นก่อนจะจำนำอะไร ตรวจสอบให้ดีว่าเป็นของตัวเองจริงหรือไม่ อย่าคิดว่าแค่ยืมแล้วจำนำได้ เพราะอาจจบไม่สวย เสี่ยงติดคุกโดยไม่รู้ตัว

สัญญาจำนำ

สัญญาจำนำ คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้จำนำ” ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้รับจำนำ” เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ (ม. 747 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

สังหาริมทรัพย์ คือ ทรัพย์สินอื่นนอกจากอสังหาริมทรัพย์ และหมายความรวมถึงสิทธิอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นด้วย สามารถเคลื่อนย้าย หรือ พกติดตัวได้ (ม. 140 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

ตัวอย่างเช่น

• เครื่องประดับเพชร
• กระเป๋าแบรนด์เนม
• รถยนต์
• นาฬิกา
• โทรศัพท์มือถือ
• คอมพิวเตอร์

ลักษณะของสัญญาจำนำ

1. ผู้จำนำจะเป็นบุคคลที่สาม หรือเป็นลูกหนี้ก็ได้ : อาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือเป็นนิติบุคคลก็ได้ เนื่องจากสัญญาจำนำเป็นการประกันด้วยทรัพย์สิน เจ้าหนี้จึงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินนั้น แม้ทรัพย์สินนั้น จะเปลี่ยนเจ้าของไปแล้วก็ตาม แต่จะไปบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำนำไม่ได้

2. ทรัพย์สินที่จำนำต้องเป็นสังหาริมทรัพย์เท่านั้น หากเป็นอสังหาริมทรัพย์จะไม่สามารถจำนำได้

3. ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำแก่ผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ : การส่งมอบทรัพย์สินที่จะถือเป็นการจำนำนั้น จะต้องส่งมอบโดยมีเจตนาเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่ถือว่าเป็นการจำนำ

4. สัญญาจำนำถือเป็นหนี้อุปกรณ์ : เนื่องจากสัญญาจำนำทำขึ้นเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จึงต้องมีหนี้ประธานระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้

5. ผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จำนำ : เพราะหากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ประธาน ผู้รับจำนำจะสามารถบังคับจำนำเอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาดได้ ดังนั้นผู้จำนำจึงต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่นำมาจำนำด้วย

ยืมของคนอื่นมาจำนำได้ไหม ?

หากนำของที่ยืมคนอื่นมาจำนำ มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ (ม. 352 ประมวลกฎหมายอาญา)

โทษ

จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

อ่านบทความอื่นๆ
เรื่องควรรู้! เมื่อคิดทำสัญญาขายฝาก
มรดก ไม่ได้มีแค่ทรัพย์สิน แต่รวมถึงหนี้สินด้วย เมื่อเจ้ามรดกตาย แต่หนี้ ยังคงอยู่ จะจัดการอย่างไร?
รู้หรือไม่ รับช่วงสิทธิ คืออะไร? 

Copyright ©2025  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?