12 ตุลาคม 2565
หนี้ เมื่อมีแล้วถือเป็นความรับผิดชอบที่ต้องชดใช้คืน แน่นอนว่าผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงคือผู้กู้ที่มีชื่ออยู่ในสัญญาหนี้ แต่นอกเหนือผู้กู้แล้วจะมีใครที่ต้องร่วมรับผิดชอบบ้าง และต้องรับผิดชอบอย่างไร ไปติดตามรายละเอียดกัน
หนี้ คืออะไร?
หนี้ คือ นิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป โดยฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ลูกหนี้ มีหน้าที่ต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเรียกว่า เจ้าหนี้
หนี้เกิดโดยนิติกรรม-สัญญา ที่เมื่อมีการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นจะทำให้เกิดความเป็นเจ้าหนี้-ลูกหนี้ขึ้น โดยลูกหนี้จะหลุดพ้นจากภาระแห่งหนี้ได้นั้นก็ต่อเมื่อชำระหนี้ตามที่ตกลงในสัญญาแล้ว และหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้มีความหมายเฉพาะการกู้ยืมเงินเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความผูกพันที่สามารถใช้สิทธิ์เรียกร้องได้ตามกฎหมาย เช่น ภาษีอากร ด้วย
เมื่อก่อหนี้แล้ว…ใครต้องร่วมรับผิดชอบ?
1. สามี-ภรรยา
กรณีมีหนี้สินก่อนจดทะเบียนสมรส
ถือเป็นหนี้ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้ กยศ. ซึ่งถือเป็นหนี้ส่วนตัว หากเมื่อจดทะเบียนสมรสในภายหลัง อีกฝ่ายจะไม่ต้องร่วมรับผิดชอบหนี้ หากมีการฟ้องร้องหรือยึดทรัพย์ เจ้าหนี้จะยึดได้แค่ทรัพย์ส่วนตัวของผู้ที่เป็นหนี้ และสินสมรสครึ่งหนึ่ง แต่ไม่มีสิทธิ์ยึดทรัพย์ส่วนตัวของคู่สมรส
กรณีมีหนี้สินหลังจดทะเบียนสมรส
ในทางกฎหมายกำหนดให้สามี-ภรรยารับผิดชอบหนี้ร่วมกัน แม้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีชื่ออยู่ในสัญญาหนี้ก็ตาม แต่ถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน โดยมีทั้งหมด 4 ประเภท คือ
1. หนี้เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่สามีหรือภรรยาเท่านั้น แต่รวมถึงบุคคลอื่นในครอบครัวด้วย เช่น ค่าอุปการะเลี้ยงดู การศึกษา การรักษาพยาบาล
2. หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส เช่น เงินกู้ซ่อมแซมบ้านที่เป็นสินสมรสซึ่งสามีเป็นผู้กู้ แต่ภรรยาต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
3. หนี้ที่เกิดขึ้นจากการงานซึ่งสามีภรรยาทำด้วยกัน เช่น สามีภรรยาทำธุรกิจร่วมกันและมีการกู้เงินเพื่อหมุนเวียนในธุรกิจนั้น ถือว่าต้องรับผิดชอบหนี้ร่วมกัน
4. หนี้ที่สามีหรือภรรยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายให้สัตยาบันว่าจะรับผิดชอบหนี้ร่วมกัน (การให้สัตยาบันจะทำด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรก็ได้)
2. ทายาทมรดกกรณีผู้ก่อหนี้เสียชีวิต
หนี้ ถือเป็นมรดก เพราะมรดก หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้เสียชีวิต ตลอดจนสิทธิหน้าที่ และความรับผิดต่างๆ เช่น หน้าที่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งจะตกทอดแก่ทายาทด้วย
เจ้าหนี้สามารถทวงหนี้กับทายาทที่มีสิทธิ์รับมรดกของผู้เสียชีวิตได้ แต่จะได้เท่ากับมรดกที่ทายาทได้รับเท่านั้น หากมีหนี้มากกว่านั้นทายาทก็ไม่ต้องชำระ เช่น ทายาทได้รับมรดกจากผู้เสียชีวิตมูลค่า 1 ล้านบาท แต่ผู้เสียชีวิตมีหนี้สินที่ยังชำระไม่หมดอยู่ที่ 3 ล้านบาท ดังนั้นทายาทจะชดใช้หนี้สินในจำนวนไม่เกิน 1 ล้านบาท เท่านั้น ส่วนอีก 2 ล้านบาท ทายาทไม่ต้องรับผิดชอบ