กฎหมายที่คนเลี้ยงสัตว์ต้องรู้! เพื่อลดปัญหาและไม่สร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนบ้าน

 

กฎหมายที่คนเลี้ยงสัตว์ต้องรู้! เพื่อลดปัญหาและไม่สร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนบ้าน

สัตว์เลี้ยงของเราไม่ได้น่ารักสำหรับผู้อื่นเสมอไป และการเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ใช่แค่การให้ความรักหรือชื่นชอบแค่ความน่ารักเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดจากสัตว์เลี้ยง และจะส่งผลกระทบกับสังคมหรือคนรอบข้างด้วย ไม่ว่าจะเป็นการส่งกลิ่น เสียงดังรบกวน หรือการดุร้ายทำร้ายผู้อื่น รวมถึงความรับผิดชอบทางกฎหมายที่คนเลี้ยงสัตว์ต้องรู้ไว้ด้วย รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ตามไปดูพร้อมๆ กันเลย

คำนิยามตามกฎหมายที่คนเลี้ยงสัตว์ต้องรู้

เจ้าของสัตว์ หมายความว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ และให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสัตว์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแล ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ดูแลด้วย

บ้าน คือพื้นที่จำกัด การซื้อบ้านไม่ว่าจะในหมู่บ้านจัดสรรหรือในพื้นที่ใดๆ ก็ตาม เราจะมีสิทธิ์แค่ในขอบเขตของบ้านเท่านั้น การเลี้ยงสัตว์ในบริเวณบ้าน แล้วปล่อยให้เสียงหรือกลิ่นของสัตว์เลี้ยงรบกวนบ้านหลังอื่นติดต่อกันเป็นเวลานาน ถือเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้เพื่อนบ้าน

เลี้ยงสัตว์แบบไหนเข้าข่ายสร้างความเดือดร้อน?

พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25 ระบุไว้ว่า ลักษณะของเหตุอันก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ต้องประสบกับเหตุนั้น ดังต่อไปนี้จะถือว่าเป็นเหตุรำคาญ ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์ในที่หรือวิธีใดหรือมีจำนวนเกินสมควร จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้นหาก เสียง กลิ่น หรืออื่นๆ สร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อนบ้าน ถือเป็นการก่อความรำคาญทั้งสิ้น

สัตว์เลี้ยงทำร้ายผู้อื่นเจ้าของต้องรับผิดชอบอย่างไร?

หากสัตว์เลี้ยงของเราออกนอกเขตบ้านไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม และได้ทำร้าย ทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีหน้าที่รับผิดชอบ โดยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาตามกรณีต่างๆ ดังนี้

1.  กรณีสัตว์เลี้ยงสร้างอันตรายแก่ผู้อื่น

หากสัตว์เลี้ยงสร้างอันตรายแก่ผู้อื่น เช่น ไล่กัด วิ่งตัดหน้ารถจนเกิดอุบัติเหตุ เจ้าของมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377 ผู้ใดควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพังในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.  กรณีสัตว์เลี้ยงสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น

โดยความเสียหายต่างๆ เช่น ขับถ่ายในที่สาธารณะหรือบริเวณบ้านอื่น กัดทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย เจ้าของมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น

3. กรณีสัตว์เลี้ยงสร้างความรำคาญหรือรบกวนผู้อื่น

หากสัตว์เลี้ยงเห่าหอนเสียงดัง รบกวนการนอนหลับของเพื่อนบ้าน หรือเจ้าของไม่ดูแลรักษาความสะอาดสัตว์เลี้ยงจนส่งกลิ่นรบกวนเพื่อนบ้าน เจ้าของมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ผู้ใดกระทำการใดๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอาย เดือดร้อน รำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ดังนั้นแล้วก่อนตัดสินใจรับสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงเข้ามาในครอบครัว ควรสำรวจความพร้อมของตัวเองและที่อยู่อาศัย ทำความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งควรทำความเข้าใจลักษณะนิสัยของสัตว์เลี้ยงตนเองให้ดี เพราะการที่สัตว์เลี้ยงไม่เคยทำร้ายเราก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ทำร้ายผู้อื่น ซึ่งหากเกิดเรื่องขึ้นมาเจ้าของก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้ เนื่องจากกฎหมายมีบทลงโทษที่ชัดเจนไว้แล้ว

 

ข้อมูลอ้างอิง

กระทรวงยุติธรรม

Tag

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?