31 สิงหาคม 2565
ปัญหาความเสียหายจากแชร์ลูกโซ่ เป็นปัญหาเรื้อรังที่แทรกซึมอยู่ในสังคมไทยกลุ่มอาชีพ และทั้งที่มีข่าวความเสียหายให้เห็นอยู่เรื่อยๆ แต่ทำไมยังมีผู้คนหลงเข้าสู่วงโคจรนี้ วันนี้เราจะพาไปติดตามรายละเอียดว่าแชร์ลูกโซ่กับขายตรงนั้นแตกต่างกันอย่างไร และมีวิธีการสังเกตอย่างไรว่าคุณกำลังตกเป็นเป้าหมายของขบวนการแชร์ลูกโซ่
แชร์ลูกโซ่ คืออะไร?
แชร์ลูกโซ่ คือการประกาศโฆษณาชวนเชื่อ ชักชวนเหยื่อให้เกิดความสนใจและนำเงินมาลงทุน หรือสมัครสมาชิกกับบุคคลหรือนิติบุคคล เพื่อนำเงินไปลงทุนกับกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยอ้างว่าหากเข้าร่วมลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในอัตราสูง และยังหลอกให้เหยื่อชักชวนบุคคลอื่นๆ แลกกับการให้ค่าหัวคิวเพิ่มด้วย
วิธีการจ่ายผลตอบแทนตามที่โฆษณานั้น จะเป็นการนำเงินค่าสมัครสมาชิกหรือเงินลงทุนจากสมาชิกรายใหม่ ไปหมุนเวียนเพื่อจ่ายให้สมาชิกรายเก่า รวมทั้งยังให้เพิ่มเติมกับผู้ที่หาสมาชิกใหม่เพิ่มได้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าลงทุนแล้วได้เงินตอบแทนสูงจริง ซึ่งจะกลายเป็นวงจรที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ไม่มีสมาชิกมาเพิ่ม หรือได้เงินก้อนโตแล้วผู้หลอกลวงก็จะหยุดจ่ายเงินและหลบหนีไปพร้อมกับเงินก้อนนั้น
วิธีสังเกตว่าคุณกำลังตกเป็นเหยื่อของขบวนการแชร์ลูกโซ่
1) การสมัครสมาชิกหรือการร่วมลงทุน ที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อนั้น ไม่ได้เป็นไปกับสถาบันการเงินตามกฎหมาย
2) มีการเสนอผลตอบแทนจากการสมัครสมาชิกหรือการร่วมลงทุนในอัตราที่สูงกว่าของสถาบันการเงินทั่วไป หรือเป็นการลงทุนในเวลาสั้นแต่ได้ผลตอบแทนเร็ว
3) แจ้งว่าเป็นการชำระค่าสมัครสมาชิกหรือจ่ายเงินลงทุนเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องทำธุรกรรมอื่น แล้วให้รอรับผลตอบแทน รวมทั้งยังเน้นให้หาสมาชิกหรือผู้ร่วมลงทุนเพิ่มเพื่อให้ได้ค่าหัวคิวอีกต่อ
4) มีการสร้างภาพให้ดูน่าลงทุน เช่น ความร่ำรวยของผู้ที่ร่วมลงทุน หรือมีการนำชื่อดารา ศิลปิน คนดังมาแอบอ้าง
บทลงโทษเกี่ยวกับขบวนการแชร์ลูกโซ่
1) กรณีที่เป็นสมาชิก หรือผู้ร่วมลงทุนในขบวนการแชร์ลูกโซ่ หากไม่ได้รับเงินลงทุนหรือผลตอบแทน หรือได้รับผลตอบแทนแต่ได้น้อยกว่าที่จ่ายไป จะถือว่าเป็น ผู้ได้รับความเสียหาย
2) บุคคลหรือนิติบุคคลที่หลอกลวง โฆษณา ชักชวนผู้คนให้นำเงินมาลงทุน หรือสมัครสมาชิก แล้วไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนได้ตามที่กล่าวอ้างไว้ ถือเป็นการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 20 ปี และปรับ 50,000 – 1,000,000 บาท รวมทั้งยังมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3) บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับขบวนการหลอกลวง เช่น ผู้บรรยายแผนการตลาด วิทยากร ผู้ชักชวน อาจเข้าข่ายกระทำความผิดเกี่ยวกับการเล่นแชร์ลูกโซ่ได้ แต่จะมีการพิจารณาตามข้อเท็จจริง และองค์ประกอบต่างๆ เป็นกรณีไป โดยอาจมีความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มีโทษจำคุก 5 – 20 ปี และปรับ 50,000 – 1,000,000 บาท และอาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แชร์ลูกโซ่แตกต่างจากขายตรงอย่างไร?
เมื่อรู้ถึงแนวทางสังเกตวิธีการของขบวนการแชร์ลูกโซ่แล้ว ก็จะช่วยให้คุณมีวิธีป้องกันตัวเอง และจัดการสถานการณ์ที่อาจถูกชักชวนได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเห็นว่ามีหลายคนที่รู้ถึงปัญหาและความเสียหายต่างๆ จากแชร์ลูกโซ่อยู่แล้ว แต่ก็ยังตกเป็นเหยื่อได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการมีสติและเตือนตัวเองอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ความโลภครอบงำ
อ้างอิงข้อมูล
สำนักงานกิจการยุติธรรม