การถือครองที่ดินโดยคนต่างด้าวเป็นประเด็นที่ภาครัฐให้ความสำคัญ แม้ว่าคนต่างด้าวจะสามารถถือครองที่ดินในบางกรณีตามกฎหมาย แต่ก็มีการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดโดยการให้คนไทยหรือจัดตั้งนิติบุคคลเป็นผู้ถือครองแทน ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันปัญหานี้ กรมที่ดินจึงกำหนดแนวทางตรวจสอบและมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด พร้อมบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับผู้ฝ่าฝืน ติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางป้องกันและบทลงโทษที่เกี่ยวข้องได้ในบทความนี้
3 กรณีที่คนต่างด้าวสามารถถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ โดยชอบด้วยกฎหมาย
1) การรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม (มาตรา 93 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน)
2) การซื้อที่ดิน 1 ไร่ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย โดยนำเงินมาลงทุน 40 ล้านบาท (มาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน)
3) การรับโอนที่ดินตามกฎหมายอื่นซึ่งให้สิทธิคนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดิน
3 แนวทางปฎิบัติ เพื่อป้องกันปัญหาการจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าว
1) การขอได้มาซึ่งที่ดินของบริษัท / นิติบุคคล ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ มีคนต่างด้าวถือหุ้น หรือ เป็นกรรมการ หรือ การขอได้มาซึ่งที่ดินของบริษัท / นิติบุคคล ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ให้คนไทยเป็นผู้ถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เช่น
• มีคนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจในการลงลายมือชื่อแทนบริษัท
• ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยรายใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจโดยตรง
• เป็นทนายความ หรือ นายหน้า
เจ้าพนักงานต้องสอบสวนให้ชัดว่าผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทย มิได้ถือหุ้นแทนคนต่างด้าว โดยสอบสวนถึงรายได้ของผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย และที่มาของเงินที่นำมาซื้อหุ้น
2) กรณีบริษัทซื้อที่ดิน ในราคาที่สูงกว่าทุนจดทะเบียน โดยไม่มีการจดจำนอง เจ้าพนักงานต้องสอบสวนที่มาของเงิน ซึ่งบริษัทนำมาซื้อที่ดิน
3) กรณีนิติบุคคลต่างด้าวเช่าที่ดิน หรือ ถือสิทธิประเภทอื่นในระยะยาว เจ้าพนักงานต้องสอบสวนว่ามี วัตถุประสงค์ในการเช่าที่ดินเพื่อนำไปประกอบกิจการใด เป็นการถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าว หรือ ขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือไม่
ทั้งนี้ กรมที่ดิน มีอำนาจให้บริษัท/นิติบุคคลใด ถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าวจำหน่ายที่ดิน และการพิจารณาดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
โทษของบริษัท / นิติบุคคล ที่มีการถือครองที่ดินแทนคนต่างด้าว
1) แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ (ม.267 ประมวลกฎหมายอาญา)
• โทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6,000บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
2) คนต่างด้าวได้มาซึ่งที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ม.111 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน)
• โทษ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
3) นิติบุคคลได้มาซึ่งที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และใช้ที่ดินเพื่อกิจการอื่นนอกจากการได้รับอนุญาต (ม.112 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน)
• โทษ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท
4) เป็นตัวแทนของคนต่างด้าว หรือนิติบุคคลที่ถือเป็นคนต่างด้าว ให้ได้มาซึ่งที่ดิน (ม.113 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน)
• โทษ ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
สอบถามเพิ่มเติม กรมที่ดิน โทร 021415592-3
อ่านบทความอื่นๆ
ลุ้น !! ขยายสิทธิ “ชาวต่างชาติ” ซื้อบ้าน คอนโด
เตรียมรับมือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง(ใหม่) เริ่มบังคับใช้ปี 2562
ทางจำเป็น สำคัญกับที่ดินตาบอดอย่างไร?