01 มีนาคม 2565
กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งช่วยให้หลายๆ ธุรกิจสามารถเติบโตหรือเดินหน้าต่อได้ คือ ตลาดการเงิน ซึ่งถือว่ามีฐานะเป็นตัวกลางทางการเงิน เป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการซื้อขายสินทรัพย์ทางการเงิน และเป็นช่องทางการส่งผ่านเงินลงทุนจากผู้ที่มีเงินทุนเหลือ ไปยังผู้ที่ต้องงานเงินทุนเพื่อบริหารจัดการกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ และโดยทั่วไปการระดมเงินทุนผ่านตลาดการเงินนั้นทำได้โดยการลงทุนผ่านตลาดแรก และตลาดรอง ซึ่งเราจะพาไปดูกันว่าตลาด 2 แบบนี้มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ทำความรู้จักโครงสร้างของตลาดการเงิน
ตลาดการเงินถูกแบ่งเป็นประเภทต่างๆ หลากหลายวิธี แต่วิธีที่ได้รับความนิยมก็คือ การแบ่งตามอายุของสินทรัพย์ทางการเงิน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
1) ตลาดเงิน ตลาดซื้อขายตราสารทางการเงินซึ่งมีอายุไม่เกิน 1 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทุนไปใช้ในระยะสั้น หรือเพื่อหมุนเวียนภายในกิจการ ตัวอย่างตราสารการเงินที่มีการซื้อขายกันเ เช่น บัตรเงินฝาก ตั๋วแลกเงิน ตั๋วเงินคลัง
2) ตลาดทุน ตลาดซื้อขายตราสารทางการเงินที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป มีวัตถุประสงค์เพื่อนําเงินทุนที่ได้ไปใช้ลงทุนโครงการระยะยาว เช่น หุ้นสามัญ หุ้นกู้ หรือพันธบัตรรัฐบาล โดยตลาดทุนนี้จะแบ่งเป็น ตลาดแรก และ ตลาดรอง
ตลาดแรก-ตลาดรอง ต่างกันอย่างไร?
1. ตลาดแรก (Primary Market)
เป็นตลาดที่ผู้ต้องการเงินทุนเสนอขายหลักทรัพย์ที่มีการออกใหม่และนําไปขายในตลาดเป็นครั้งแรก โดยการเสนอขายนี้สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
1) การเสนอขายหลักทรัพย์แก่บุคคลในวงจํากัด ซึ่งสามารถขายได้ 2 แบบ คือ ขายให้กับผู้ลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงไม่เกิน 35 ราย ในระยะเวลา 12 เดือน และขายกับผู้ลงทุนประเภทสถาบันตามที่ ก.ล.ต. กำหนดไว้ เช่น อาทิ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุน กองทุนรวม บริษัทประกันภัย
2) การเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนทั่วไป โดยผู้ต้องการเสนอขายหลักทรัพย์ต้องดำเนินการขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. และทำตามข้อกำหนดของ ก.ล.ต.
ดังนั้นตลาดแรกจึงเป็นการที่ผู้ต้องการเงินทุนเสนอขายสินทรัพย์ทางการเงินเป็นครั้งแรก ให้ผู้มีเงินทุนโดยตรง โดยไม่ผ่านบุคคลอื่น
2. ตลาดรอง (Secondary Market หรือ Trading Market)
เป็นตัวกลางการซื้อ-ขายเปลี่ยนมือความเป็นเจ้าของตราสารทางการเงิน ซึ่งผ่านการซื้อในตลาดแรกมาแล้ว ไม่ได้มีการสร้างสินทรัพย์ทางการเงินขึ้นใหม่ กล่าวคือตลาดรองเป็นแหล่งซื้อขายหลักทรัพย์ที่ออกจําหน่ายและหมุนเวียนอยู่ในระบบอยู่แล้ว เกิดการเปลี่ยนมือระหว่างผู้ลงทุน และช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้ผู้ลงทุนในตลาดแรกเพราะจะได้มีช่องทางขายสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินทุนเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายในอนาคต
ตัวอย่างตลาดรอง เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI) ตลาดตราสารหนี้ (BEX)
สรุปความแตกต่างของตลาดแรกกับตลาดรอง
การทำธุรกรรมในตลาดแรกนั้นจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว คือเมื่อผู้ระดมทุนสร้างสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อขายและมีผู้ต้องการลงทุนเป็นผู้ซื้อ ส่วนการทำธุรกรรมในตลาดรองนั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลายครั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกรรมในตลาดนี้มีเงินสะสมเพิ่มขึ้น และสินทรัพย์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย และตลาดรองจะมีความสำคัญกับระบบการเงินของประเทศสูง