11 มีนาคม 2565
ยุควิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบถ้วนหน้าต่อสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ จากภาครัฐ เช่น การคืนเงินประกันน้ำ ประกันไฟฟ้า การลดอัตราดอกเบี้ย การช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากประกันสังคม และการให้เงินเยียวยาด้านต่างๆ ซึ่งสิ่งสำคัญสำหรับประชาชนที่ต้องเตรียมพร้อม คือ การหาช่องทางรับเงินช่วยเหลือที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย อย่าง “พร้อมเพย์”
พร้อมเพย์ (PromptPay) คืออะไร?
พร้อมเพย์ เป็นบริการทางเลือกในการทำธุรกรรมทางการเงินสำหรับประชาชน ธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้ในการโอนเงินและรับเงิน เพื่อให้ผู้ใช้มีความสะดวกมากขึ้น โดยระบบพร้อมเพย์จะใช้เลขประจำตัวประชาชน หรือ หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับเงินแทนเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร
ความปลอดภัยของพร้อมเพย์
ระบบพร้อมเพย์มีการดูแลความปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนการลงทะเบียนที่รัดกุม การพัฒนาระบบกลางที่มั่นคงปลอดภัย และการใช้งานของประชาชนผู้โอนเงินอย่างถูกต้อง
• ธนาคารมีการตรวจสอบตัวตนของลูกค้าและความเป็นเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์มือถืออย่างรัดกุม
• พร้อมเพย์เป็นระบบที่พัฒนาจากระบบโอนเงินที่ใช้ในปัจจุบัน มีความปลอดภัยไม่ด้อยกว่าบริการโอนเงินในปัจจุบัน
• เป็นระบบที่เชื่อมระหว่างธนาคารกับผู้ให้บริการระบบกลางพร้อมเพย์ของประเทศ คือ บริษัท NITMX1 จึงเป็นระบบปิดที่มีการดูแลรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
• ถูกออกแบบและพัฒนาโดยบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการชำระเงิน
• มีการออกแบบความปลอดภัยในส่วนของกระบวนการเข้าใช้งานโดยผู้ใช้บริการจากทุกธนาคาร จะต้องมีการใส่เลขรหัส หรือ Password และยืนยันรายการก่อนทำการโอนทุกครั้ง
ที่มา bot.or.th
ประโยชน์ของพร้อมเพย์
• อำนวยความสะดวกในการรับเงินโอนและโอนเงิน ใช้หมายเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ แทนหมายเลขบัญชีธนาคาร โดยผู้โอนไม่จำเป็นต้องรู้ชื่อธนาคารหรือสาขา
• ค่าธรรมเนียมการโอนข้ามธนาคาร หรือข้ามสาขาถูกลง
• รองรับสวัสดิการความช่วยเหลือจากภาครัฐได้โดยตรง เช่น รับเบี้ยผู้สูงอายุ เงินบำนาญ หรือเงินเยียวยาในสถานการณ์โควิด-19
• พร้อมโอน พร้อมใช้ ปลอดภัย ไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมากๆ
• สะดวกใช้จ่าย ลดการพกบัตรหลายๆ ใบ
• สามารถตรวจสอบการทำรายการโอน-รับ ได้ทันที
พร้อมเพย์สมัครอย่างไร?
การสมัครใช้บริการระบบพร้อมเพย์สำหรับผู้ที่ไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคารจะต้องเปิดบัญชีก่อน แต่สำหรับผู้ที่มีบัญชีธนาคารอยู่แล้วสามารถใช้บัญชีที่มีอยู่ผูกกับเลขบัตรประชาชน 13 หลัก หรือเบอร์มือถือได้เลย โดยหากต้องการผูกกับบัญชีธนาคารไหน ก็สามารถสมัครพร้อมเพย์ผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารนั้นๆ ได้เลย
สิ่งสำคัญสำหรับการลงทะเบียนสมัครพร้อมเพย์
1. บัญชีเงินฝาก สามารถใช้ได้ทั้งบัญชีออมทรัพย์ และกระแสรายวัน
2. บัตรประชาชน โดย 1 หมายเลขบัตรประชาชน สามารถผูกกับบัญชีเงินฝากได้ 1 บัญชี
3. เบอร์โทรศัพท์มือถือ โดย 1 เบอร์ สามารถผูกกับบัญชีเงินฝากได้ 1 บัญชี และผูกได้สูงสุด 3 เบอร์ ต่อ 1 บัญชี
***สำหรับหมายเลขประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ ที่ผูกกับบริการพร้อมเพย์แล้วจะนำไปผูกกับบัญชีอื่นอีกไม่ได้ จนกว่าจะยกเลิกการลงทะเบียนเดิมก่อน
ที่มา bot.or.th
ช่องทางการสมัครพร้อมเพย์
โดยผู้ถือบัญชีธนาคารนั้นๆ สามารถเลือกสมัครใช้บริการพร้อมเพย์ได้จากช่องทางต่างๆ ดังนี้
1. Mobile Banking
2. Internet Banking
3. ตู้เอทีเอ็ม
4. สาขาธนาคาร
5. คอลเซ็นเตอร์
6. เว็บไซต์ของธนาคาร
***สำหรับผู้ที่มีบัญชีเงินฝากธนาคารหลายบัญชี ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนพร้อมเพย์ทุกบัญชี อาจเลือกใช้เพียงบัญชีใดบัญชีหนึ่งก็ได้
พร้อมเพย์สำคัญอย่างไรในการรับเงินเยียวยาจากรัฐ
ปัจจุบันมีการเปลี่ยนระบบโอนเงินสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐสู่ประชาชนโดยตรงผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เช่น การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด การจ่ายคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การโอนเงินสวัสดิการต่างๆ จากรัฐ
ในปัจจุบันที่ประเทศอยู่ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 การจ่ายเงินเยียวยา และเงินช่วยเหลือต่างๆ เช่น มาตรการเยียวยา 5,000 บาท (เราไม่ทิ้งกัน) นั้นช่องทางพร้อมเพย์ถูกนำมาใช้เป็นทางเลือก เพราะมีข้อมูลกลางที่เชื่อมโยงและตรวจสอบได้ง่าย รวมทั้งยังเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสด้วย และในอนาคตพร้อมเพย์อาจเป็นตัวขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวสื่อสังคมไร้เงินสดเร็วขึ้น
พร้อมเพย์กับกลุ่มนิติบุคคล
สำหรับกลุ่มนิติบุคคลนั้น พร้อมเพย์เข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยกรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ ได้ร่วมสนับสนุนการทำธุรกรรมดิจิทัล ด้วยให้บริการคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบพร้อมเพย์ และเริ่มดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563
เงื่อนไขคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบพร้อมเพย์
1. เป็นนิติบุคคลที่มีพร้อมเพย์
2. มีเงินคืนภาษีไม่ถึง 100 ล้านบาท
3. ไม่เปลี่ยนแปลงสถานะนิติบุคคล
สำหรับนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไข และได้สมัครลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้ว กรมสรรพากรจะพิจารณาคืนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ผูกไว้กับเลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลัก
ส่วนนิติบุคคลที่ไม่เข้าเงื่อนไข หรือยังไม่มีพร้อมเพย์ กรมสรรพากรจะคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเช็ค หรือโอนผ่านบัญชีธนาคาร
การคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นมีเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการคืนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์แทนการคืนเงินเป็นเช็คหรือโอนผ่านบัญชีธนาคารทุกราย เพื่อสนับสนุนนโยบายการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ลดต้นทุนการทำธุรกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน เพิ่มความสะดวก และความปลอดภัยในการให้บริการ
อ่านข้อมูลเกี่ยวกับพร้อมเพย์ เพิ่มเติมที่ www.dharmniti.co.th/พร้อมเพย์-พร้อมใช้
ข้อมูลอ้างอิง
www.bot.or.th
www.bangkokbiznews.com