สิทธิ์คุ้มครองตามกฎหมายควรรู้ เมื่อมีประวัติในเครดิตบูโร

12 ตุลาคม 2565

การใช้บริการทางการเงิน ไม่ว่าจะฝาก ถอน โอน จ่าย ขอสินเชื่อ หรือการทำธุรกรรมต่างๆ นั้น นอกจากผู้ใช้บริการทางการเงินจะต้องทำความเข้าใจขั้นตอนหรือปฏิบัติอย่างถูกต้องตามข้อกำหนดของสถาบันการเงินแต่ละแห่งแล้ว สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือการศึกษารายละเอียดในส่วนของสิทธิ์ต่างๆ ที่คุณควรได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ที่มีอยู่นั้นให้ได้มากที่สุด ซึ่งในส่วนของสิทธิ์นี้มีหลากหลาย แต่ในที่นี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับสิทธิ์ที่ควรได้รับเมื่อมีประวัติในเครดิตบูโร

สิทธิ์ที่ผู้ใช้บริการทางการเงินควรรู้เมื่อมีประวัติในเครดิตบูโร

สำหรับผู้ใช้บริการทางการเงินที่ได้รับสินเชื่อหรือบัตรเครดิตจากธนาคาร หรือสถาบันการเงินต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโรนั้น จะถูกเก็บข้อมูลต่างๆ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประจำตัวประชาชน รวมถึงประวัติการชำระหนี้ทั้งที่ตรงตามกำหนดและค้างชำระตามความเป็นจริง โดยในทางกฎหมายเรียกผู้ที่ถูกเก็บข้อมูลนี้ว่าเจ้าของข้อมูล และจะมีสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองต่างๆ ดังนี้

1. สิทธิ์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล

แม้จะเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินและถูกเก็บข้อมูลในเครดิตบูโร แต่เจ้าของข้อมูลก็มีสิทธิ์ต่างๆ เกี่ยวกับข้อมูลของตนเอง และเครดิตบูโรสามารถเปิดเผยได้เฉพาะกรณีดังนี้

• เมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล ให้เปิดเผยแก่ธนาคาร บริษัทบัตรเครดิต หรือสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร

• เมื่อกฎหมายอนุญาตหรือกำหนดไว้ เช่น การเปิดเผยข้อมูลตามคำสั่งศาล ซึ่งบางกรณีหากการเปิดเผยข้อมูลแล้วเครดิตบูโรจะต้องมีหนังสือแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบภายใน 30 วัน

2. สิทธิ์ที่จะรู้ว่าเครดิตบูโรเก็บข้อมูลอะไรไว้บ้าง

เจ้าของข้อมูลสามารถขอดูข้อมูลที่เครดิตบูโรเก็บไว้ว่ามีการเก็บข้อมูลอะไรของเราไว้บ้าง และมีความถูกต้องหรือไม่ หากพบว่าข้อมูลที่ถูกจัดเก็บนั้นไม่ถูกต้องก็แจ้งแก้ไขได้ เช่น ชื่อ นามสกุล วัน เดือน ปีเกิด หรือแม้แต่ประวัติการชำระหนี้หากเรามีหลักฐานยืนยันว่ายอดค้างชำระที่ปรากฏนั้นเราได้ชำระตามกำหนดแล้ว ก็แจ้งแก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริงได้ทั้งที่เครดิตบูโร หรือสถาบันการเงินที่เราขอสินเชื่อ

3. สิทธิ์ในการขอให้เครดิตบูโรบันทึกข้อโต้แย้งถึงความไม่ถูกต้องของข้อมูล

บางครั้งข้อมูลที่ถูกเก็บไว้อาจไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เจ้าของข้อมูลก็มีสิทธิ์ขอให้เครดิตบูโรบันทึกข้อโต้แย้งถึงความไม่ถูกต้องของข้อมูลต่างๆ นั้นไว้ในบัญชีสินเชื่อหรือบัตรเครดิตที่มีปัญหากับสถาบันการเงินและหาข้อยุติกันไม่ได้

4. สิทธิ์อุทธรณ์ข้อโต้แย้งถึงความไม่ถูกต้องของข้อมูลต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต

เจ้าของข้อมูลที่ขอให้เครดิตบูโรบันทึกข้อโต้แย้งไว้แล้ว มีสิทธิ์อุทธรณ์ข้อโต้แย้งนั้นต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องความถูกต้องของข้อมูลได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการบันทึกข้อโต้แย้ง

5. สิทธิ์ในการได้รับเอกสารหนังสือปฏิเสธสินเชื่อ

หากเราไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อหรือบัตรเครดิตจากสถาบันการเงินเพราะข้อมูลเครดิตไม่ผ่านหรือไม่ถูกต้อง สถาบันการเงินนั้นต้องออกเอกสารหนังสือปฏิเสธสินเชื่อให้เราด้วย และจะอ้างลอยๆ ว่าติดเครดิตบูโร ติดแบล็คลิสต์ หรือใช้ SMS แจ้งไม่ได้
เมื่อได้รับเอกสารหนังสือปฏิเสธสินเชื่อแล้วก็สามารถนำไปตรวจข้อมูลของเราที่เครดิตบูโรได้ฟรี เพื่อจะได้ทราบว่ามีอะไรในประวัติของเราที่สถาบันการเงินระบุเป็นสาเหตุไม่อนุมัติสินเชื่อหรือบัตรเครดิต

การตรวจสอบหรือใช้สิทธิ์ดังกล่าวก็เพื่อให้ผู้ที่ใช้บริการของสถาบันการเงินหรือที่เป็นเจ้าของข้อมูลนั้น ได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ถูกจัดเก็บไว้ และรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเองโดยเฉพาะในกรณีที่จะมีการขอสินเชื่อ หรือบัตรเครดิตเมื่อจำเป็นต้องใช้

อ้างอิงข้อมูล
ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?